CPF ชู CARE Aquaculture Model ยกระดับธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สร้างแหล่งอาหารมั่นคง ปลอดภัยให้ผู้บริโภค

CPF ถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามระบบ CARE Aquaculture Model หรือ CARE แก่เกษตรกรรายย่อย พัฒนาการเลี้ยงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย ปลอดสาร เพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดไทย
คุณไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ CPF กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ควบคู่กับการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน CPF ในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำจึงได้พัฒนาระบบ CARE สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ซึ่งมาจาก C – Consumer Need หรือการผลิตที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค A- Achieve easily and consistently ง่ายต่อการเลี้ยง มีผลผลิตที่แน่นอน R- Reliable System มีคุณภาพเชื่อถือได้ และ E- Environmental Friendly เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการผลิต ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยกระดับการผลิต และร่วมพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ระบบ CARE เป็นแนวทางการเลี้ยงปลาน้ำจืดที่ให้ความสำคัญความปลอดภัยของอาหาร ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการผลิต เริ่มตั้งแต่ลูกพันธุ์ปลาที่บริษัทฯ พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ เป็นพันธุ์ที่เติบโตเร็ว และต้านทานโรค อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาผลิตจากวัตถุดิบที่ดี เพื่อให้ได้ปลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
สำหรับฟาร์มของระบบ CARE บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ตั้งแต่ระบบน้ำหมุนเวียนและการบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพ ฝสามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีการปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือชุมชน นำหลักการ Gravity Flow มาใช้ช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้ยาและสารเคมี และในอนาคตจะนำพลังงานโซล่าร์เซลล์ใช้ในฟาร์ม รวมถึงระบบอัตโนมัติต่างๆ มาใช้ในการควบคุมการปิด-เปิดเครื่องให้อาหารและเครื่องเติมอากาศจากโทรศัพท์มือถือ ทำให้การบริหารจัดการฟาร์มเป็นเรื่องง่าย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เหมาะกับเกษตรกรรุ่นใหม่
“ระบบ CARE ช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เป็นการเลี้ยงที่สะอาดและควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค ลดการใช้ยาและสารเคมี ส่งผลให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาด และปลอดภัย และช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่แน่นอนขึ้น ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่” คุณไพโรจน์ กล่าว
CPF นำองค์ความรู้ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทันสมัย ส่งต่อไปยังเกษตรกรคู่ค้า รวมถึงสถาบันการศึกษา และผลักดันให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบดังกล่าวให้ทันสมัยและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่มากขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา CPF จัดโครงการความร่วมมือฯ กับ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ศูนย์การเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์น้ำจืดระบบน้ำหมุนเวียน เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้นิสิตคณะประมงได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เกี่ยวกับการผลิตปลาน้ำจืดที่ทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเตรียมต่อยอดความร่วมมือพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ ให้กับนิสิตประมงของ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ต่อไป
Cr.PR CPF