ส่งออกตั้งรับคาร์บอน CBAM อียูตั้งการ์ดสินค้าไม่รักษ์โลก

นับถอยหลังอีก 8 เดือน ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยจะนำร่องในสินค้าส่งออก 5 กลุ่ม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า

ในงานสัมมนา คณะกรรมการยุโรป “ทางรอดธุรกิจไทย ปรับตัวอย่างไรในวิกฤตโลกปัจจุบัน” ซึ่งทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการหยิบยกถึงแนวทางการเตรียม CBAM มาหารือกันในวงกว้าง

โดย นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ปัจจุบันร่างกฎหมาย CBAM อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติของคณะกรรมาธิการยุโรป คาดว่าในกลางปี 2565 นี้จะมีการลงมติของร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ ซึ่งกฎหมายนี้มีเป้าหมายจะให้บังคับใช้ได้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

ดังนั้นในระหว่างนี้ ซึ่งมีเวลาอยู่ประมาณ 6-7 เดือน ก่อนที่กฎหมายจะมีการบังคับใช้ ผู้ประกอบการไทยหรือผู้ส่งออกจำเป็นจะต้องศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกสินค้าเข้าตลาดยุโรป ซึ่งทางกรมศึกษามุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เช่น การคำนวณการปล่อยก๊าซ วิธีการรักษาสิ่งแวดล้อม แนวทางการปฏิบัติ การเก็บภาษี เป็นต้น

ล่าสุดไทย โดย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้แสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เนื้อหากฎหมายอาจขัด WTO ข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นอุปสรรคต่อการค้า เพราะมีการจำเพาะเจาะจงรายสินค้า ซึ่งจากการติดตามก็มีหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ เช่น จีน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ออสเตรเลีย

แต่ก็มีบางประเทศ เช่น สหรัฐ ที่อยู่ระหว่างร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกัน โดยจะกำหนดค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดน แต่จะยกเว้นให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน แต่ยังเป็นเพียงการเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนแคนาดาก็อยู่ระหว่างของการออกแบบมาตรการเช่นกัน

5 กลุ่มสินค้าเตรียมรับมือ

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการ CBAM กำหนดว่าในช่วง 3 ปีแรก ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสินค้า 5 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณออกมาว่าทำอย่างไร โดยยังไม่ต้องซื้อหรือส่งมอบใบรับรอง CBAM แต่หากกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้ที่นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ และ “อาจ” ขยายให้ครอบคลุมสินค้ามากขึ้น

ภาคธุรกิจควรปรับตัวนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ หรือ net zero อีกทั้งนำแนวคิด BCG โมเดล มาประยุกต์ใช้ แสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการสนับสนุนการส่งออก เป็นต้น เพราะหากมีการบังคับใช้จะมีผลต่ออุปสรรคการส่งออกสินค้าของไทย ในกลุ่มสินค้าเป้าหมาย และอนาคตอาจจะขยายไปในสินค้าอื่น จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปมีอุปสรรคและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้า 5 รายการ CBAM ไปยุโรป มีมูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.52% ของการส่งออกทั้งหมด แบ่งเป็น เหล็กและเหล็กกล้า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.76% อะลูมิเนียม 61 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.75% ส่วนซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า มีปริมาณน้อยมากไม่ถึง 0%

วิกฤตแหล่งวัตถุดิบโลก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันยุโรปกำลังเจอปัญหาจากผลกระทบโควิด-19 ปัญหาการขาดซัพพลายเชน สงครามรัสเซีย-ยูเครนน่าจะยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปหดตัว และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ประเทศที่ประสบปัญหาหนักคือ เยอรมนี เนื่องจากพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมัน ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ก๊าซธรรมชาติ ที่รัสเซียเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก

หากมองถึงผลกระทบต่อไทยจากนโยบายยุโรป ประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 ในอาเซียน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับตัวหาวัตถุดิบทดแทน เช่น ปุ๋ย ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งเป็นต้นทุนถึง 30% ของการผลิตอาหารสัตว์ ไทยมีโพรแทสเซียม หากสามารถนำมาผลิตปุ๋ยได้ก็จะช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี รวมถึงหาตลาดอื่นไว้รองรับ เช่น อินเดีย และตะวันออกกลาง พร้อมทั้งลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

ผู้ส่งออกไก่เร่งปรับตัว

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า สมาคมร่วมมือกับนักวิจัยในการศึกษาเตรียมแผนรับมือ โดยผู้ส่งออกไก่สดและแปรรูปได้เริ่มปรับตัวรับกฎหมาย CBAM ไว้แล้ว เนื่องจากกังวลว่ามาตรการ CBAM จะขยายมาใช้กับสินค้าไก่ เพราะเริ่มมีการใช้มาตรการอื่นในกลุ่มประมงมาแล้ว และปัจจุบันลูกค้ายุโรปขอให้ผู้ส่งออกมีใบรับรองกากถั่วเหลือง ในห่วงโซ่ซัพพลายเชนต้องสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งผู้ส่งออกไก่ปรับใช้เรื่อง BCG โมเดล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลิกเผาตอซัง และสนับสนุนการพัฒนาวิจัยเข้าโพดแบบยั่งยืน ไม่ไปบุกรุกป่า

ทั้งนี้ ไทยส่งออกเนื้อไก่ไปตลาดยุโรป ปี 2564 ปริมาณ 1.2 แสนตัน มีมูลค่า 12,133 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด 18% คู่แข่งสำคัญ คือ สหราชอาณาจักร ยูเครน บราซิล และจีน ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตไก่อันดับที่ 7 ของโลก รองจากสหรัฐ บราซิล และจีน และเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ส่งออกเฉลี่ย 900,000 ตัน รองจากบราซิล สหรัฐ และยุโรป ส่วนประเทศที่นำเข้าไก่ เช่น ญี่ปุ่น เม็กซิโก จีน UK และยุโรป

หนุนเจรจา FTA ไทย-อียู

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรปไม่ใช่ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์และส่งออกรถยนต์หลักของไทย ไทยส่งต่อชิ้นส่วนยานยนต์ไปยุโรป คิดเป็น 7.7% มูลค่า 1,799 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 4% ของการส่งออกไปทั่วโลก แต่เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี มีความต้องการตกแต่งรถยนต์สูง แต่ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาวัตถุดิบหลัก เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม แพลเลเดียม และนิกเกิลพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

“ผู้ผลิตได้มีการนำ BCG โมเดลเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยรับมือนโยบายนี้ และช่วยให้การผลิตและการส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ โดยการมุ่งพัฒนาการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ ช่วยยกระดับตลอดห่วงโซ่การผลิตได้ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนคือ การเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-ยุโรป และเอฟทีเออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแต้มต่อต่อการส่งออกของไทยได้ในอนาคต”

แนะประกันความเสี่ยงส่งออก

นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ทั่วโลกต่างเจอปัญหาและอยู่ระหว่างการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากผลกระทบจากโควิด และยังมีความเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การส่งออกเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่ประเทศผู้นำเข้าก็มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งมีผลและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยนั้นจำเป็นต้องศึกษาและปรับตัวเพื่อรองรับเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นให้ได้ในอนาคต การทำประกันความเสี่ยงจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ สถาบันการเงินพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกเรื่องการทำประกันความเสี่ยง การถูกปฏิเสธรับสินค้า การชำระเงิน การประเมิน การออกแบบการทำประกันให้ตามความเหมาะสมของลูกค้า

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ