คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ CEO ซีพีเอฟโชว์วิสัยทัศน์ “ครัวไทยครัวโลกและการยกระดับคุณภาพชีวิต” ในงานสัมมนา Battle Strategy : DON’T WASTE A GOOD CRISIS พลิกชีวิตด้วยวิกฤตการณ์

คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสมากในการเป็นครัวไทยสู่ครัวโลกได้ เพราะอยู่ในโซนร้อนทำให้สามารถปลูกผักและผลไม้ได้ตลอดปี นับว่าได้เปรียบกว่าประเทศที่อยู่ในโซนหนาวที่จะมีข้อจำกัดบางอย่าง นอกจากนี้ การทำธุรกิจจะต้องมี local market สนับสนุน เพราะถ้า local market มีขนาดเล็ก จะยากสำหรับการทำธุรกิจส่งออก ดังนั้น domestic size จึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเริ่มแรกของการทำธุรกิจ

CPF ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นตัวแทนของไทยที่นำสินค้าขายในต่างประเทศ พร้อมชูมาตรฐานและการสร้างแบรนด์ให้ต่างประเทศได้เห็นว่า ประเทศไทยมีมาตรฐานที่ดีและน่าเชื่อถือ ดังนั้น ในการออกสู่ตลาดสากลต้องร่วมมือกันและมีความระมัดระวังในเรื่องคุณภาพ เพราะหากเกิดความเสียหายจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของประเทศ แต่หากทำได้ดี จะสามารถสร้างแบรนด์ให้ประเทศได้ ปัจจุบัน CPF ส่งออกประมาณ 30 ประเทศ รวมถึงการลงทุนสร้างโรงงานอีก 17 ประเทศ นับว่ามีการดำเนินธุรกิจแล้วเกือบทุกทวีปทั่วโลก

สำหรับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 CPF ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบ เรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องที่ดำเนินการให้เกิดผลมาโดยตลอด CPF เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพียงแต่เมื่อเจอกับวิกฤต กลับเป็นตัวเร่งให้นำเทคโนโลยีมาใช้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน CPF ได้ยึดหลัก Good Corporate Citizen ซึ่งนอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสังคม ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ ทำประโยชน์ให้กับประเทศ สังคม และองค์กร ดังนั้น บริษัทฯ จึงจัดสรรงบเพื่อช่วยสังคมในช่วงโควิด-19 โดยเริ่มจากการร่วมกับ ก.สาธารณสุข เดินหน้าส่งมอบอาหารคุณภาพปลอดภัยให้ให้ผู้เฝ้าระวังที่กลับจากประเทศเสี่ยง 20,000 คน บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ 200 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนครอบครัวแพทย์-พยาบาล” 20,000 ครอบครัว รวมถึงโครงการอื่นๆ อีก 8 โครงการ และล่าสุด ยังร่วมกับ ก.แรงงาน กับโครงการรับสมัครนักศึกษาจบใหม่ รับพนักงานสูงถึง 8,000 อัตรา, โครงการสนับสนุนแฟรนไชส์ธุรกิจร้านอาหาร สร้างผู้ประกอบการ ห้าดาว-สตาร์คอฟฟี่กว่า 4,500 ราย พร้อมโครงการคูปองแทนใจให้ผู้ประกันตน มอบคูปองซีพี เฟรชมาร์ท ช่วยค่าครองชีพ กว่า 2,000 บาทต่อคน ประมาณ 16 ล้านคนด้วย

จุดเด่นของไทยในการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารคือ ความสดและเมนูอาหารไทย เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงส่งผลดีในเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารด้วย นอกจากนี้ CPF ได้ถอดรหัสความสำเร็จของอู่ฮั่น เรื่องการกระจายสินค้าและจัดทำมาตรฐานด้านอาหารร่วมกับบริษัทด้าน ISO ของอังกฤษ ซึ่งบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนี้ คือการมีมาตรฐานที่ดีและห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่น

สำหรับการทำธุรกิจอาหาร สิ่งสำคัญคือพื้นที่และการต่อยอดเพื่อทำให้ประเทศดีขึ้น เช่น การสร้างระบบการจัดการน้ำที่ดีเพื่อแก้ภัยแล้ง ขณะเดียวกัน CPF ยังมีโครงการปลูกข้าวโพดทดลองทำระบบน้ำหยดจากอิสราเอล หากการพัฒนาเรื่องน้ำของไทยสำเร็จ จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศสู่ความเป็นครัวของโลก และอีกประเด็นสำคัญ คือการควบคุมต้นทุนและการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

คุณประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยต้องเสริม นอกเหนือจากความยืดหยุ่นที่มีอยู่แล้ว คือเพิ่มความเร็ว และ Commitment ตลอดจนเพิ่มการกระจายความเสี่ยงด้วย

สิ่งที่ผู้นำและภาคธุรกิจต้องมีเพื่อเตรียมเข้าสู่ Next Normal คือ Mind Set ซึ่งพนักงานในบริษัททุกคนมี Growth Mind Set ที่มีความต้องการเติบโต Learning Thinking ที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ Innovation ที่ต้องสร้างสรรค์ผลผลิตต่างๆ เพื่อต่อยอด Dare to change คือกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และสุดท้ายคือ Positive Thinking ต้องคิดบวกเพื่อพร้อมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น

Cr:Pr CPF