ซีอีโอ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ขึ้นเวทีหอการค้าไทยสัญจร จ.นครพนม ร่วมสานพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ Connect The Dots แบ่งปันวิสัยทัศน์และประสบการณ์ “การสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านดิจิทัลและ Sustainability” แก่หอการค้าไทย และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC กว่า 400 คน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเกียรติจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชิญบรรยายพิเศษหัวข้อ “การสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้าน Digital และ Sustainability” ในการประชุมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสัญจรประจำปี 2566 ครั้งที่ 5 จังหวัดนครพนม ซึ่งจัดขึ้นในวาระครบรอบ 90 ปีหอการค้าไทย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce) รวมประมาณ 400 คน

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวโดยสรุปชี้ให้นักธุรกิจซึ่งเป็นสมาชิกหอการค้าไทยและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ก้าวให้ทันกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก และความท้าทายใหม่ๆ ของโลก ทั้งนี้วิกฤตมักตามมาด้วยโอกาสถ้าเราปรับตัวทัน

แนวโน้มความท้าทายของโลกที่คุณศุภชัยกล่าวถึงมีด้วยกัน 6 ประการ ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำ 2. การเปลี่ยนแปลงผันผวน เทคโนโลยีและคนจะผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว เราต้องปรับตัวให้ทัน กับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าของตัวเองและองค์กร 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4. ความเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจและเศรษฐกิจ 5. การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค 6. การเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพมนุษย์

โดยคุณศุภชัยได้ตอกย้ำว่า ความท้าทายของโลกก็คือความท้าทายของประเทศไทย ประเทศไทยมีโอกาสเติบโตถ้าเราเพิ่มผลผลิตต่อประชากร เพิ่มศักยภาพของประชาชน ก็สามารถที่จะเพิ่ม GDP ของประเทศได้

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่ง IMD จัดอันดับความสามารถทางดิจิทัลของไทยอยู่อันดับที่ 40 จาก 63 ประเทศ ลดลงถึง 2 ตำแหน่งในปี 2022 จึงจะต้องเพิ่มความสามารถทางดิจิทัลแก่คนไทย โดยการ 1. เพิ่มความรู้ เพิ่มบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์ เพิ่มทักษะดิจิทัล / เทคโนโลยีแก่คนไทย 2. เทคโนโลยีต้องสร้างความพร้อมเทคโนโลยีด้านการสื่อสารความเร็วอินเตอร์เน็ตและผู้ใช้งาน 3. ความพร้อมต่ออนาคต ได้แก่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ เอกชนสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัย


ความท้าทายสำคัญอีกประการที่คุณศุภชัย ชี้ให้เห็นคือ Venture Capital (VC) เข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีของไทยลดลง โดยลดลงจาก 14% เหลือแค่ 6% ขอมูลค่ารวมอาเซียน และไทยมีสตาร์ทอัพเพียงแค่ 1,000 กว่าราย น้อยกว่าสิงคโปร์ถึง 55 เท่า หากเราสามารถทำให้ทุนไหลเข้าประเทศไทยได้มากขึ้น ก็จะช่วยสร้าง GDP ให้เติบโตมากขึ้น และทุนที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาแค่เม็ดเงิน แต่จะดึงคนเก่งเข้ามาด้วย

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและศูนย์กลางทางด้านการศึกษา ซึ่งจะต้องลงทุนในเรื่องของคนและนวัตกรรมให้มากขึ้น การสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อาทิ การมีมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อดึงดูดคนเก่งและทุน