เครือซีพี ประชุมออนไลน์ “CG Continuous Process Improvement” ผนึกกำลังพนักงานซีพี ร่วมขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยงานด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดประชุมออนไลน์ “CG Continuous Process Improvement” ระดมสมองสร้างความร่วมมือของพนักงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจของเครือฯ ทั้งกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการวางแผนและจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 44 คน เพื่อสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการกำกับดูแลกิจการที่ดีของเครือซีพี

การประชุมครั้งนี้ ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์จากบริษัทในเครือฯ ภายใต้หัวข้อ “Misconduct case sharing from BUs” โดยมีผู้แทนของกลุ่มธุรกิจร่วมแชร์มุมมองประสบการณ์ พร้อมยกกรณีตัวอย่างการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อสร้างองค์ความรู้และส่งเสริมงานด้านธรรมาภิบาลในการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในส่วนของบริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในเครือที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในโอกาสนี้ บริษัทในเครือที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกกรณีตัวอย่างของ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL เรื่อง “กระบวนการบริหารจัดการข้อร้องเรียนกรณีพนักงานประพฤติมิชอบ” ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการทำงาน 3 ขั้นตอนคือ
1.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียน
2. การสร้างกระบวนการตรวจสอบข้อร้องเรียน พร้อมกำหนดโทษทางวินัย
และ 3. สร้างความตระหนักรู้จากเหตุการณ์ที่ถูกร้องเรียนจริง

นอกจากนี้ บริษัทในเครือที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ยกกรณีตัวอย่างของ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CPCROP ซึ่งได้แบ่งปันเหตุการณ์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในปีที่ผ่านมาพร้อมยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงเพื่อให้เห็นกระบวนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยแบ่งระดับของผลกระทบออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับแรกเป็นหตุการณ์ที่เข้าข่ายวิกฤติ เป็นกรณีที่ถูกดำเนินคดี มีหมายศาล หรือมีค่าปรับจำนวนมาก

ซึ่งส่งผลกระทบด้านการเงินต่อบริษัท ระดับที่สองคือ เหตุการณ์ที่เกิดผลกระทบในระดับต่ำ-กลาง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสถานประกอบการ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประเภทของ Laws& Regulations, Ethics & Code of Conduce เป็นต้น

การประชุมดังกล่าว นับเป็นเวทีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจผ่านกรณีศึกษาจากประสบการณ์จริงของแต่ละกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของเครือฯ ที่มาร่วมแบ่งปันกระบวนการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลภายในบริษัท

เพื่อสร้างมาตรฐานการจัดการและการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ กฎเกณฑ์ และสามารถนำความรู้นี้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เป็นการสนับสนุนนโยบายการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของเครือฯ ที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน