คลัง เผยครึ่งวันแรกประชาชนแห่ใช้คนละครึ่งเฟส 5 ยอดใช้จ่ายกว่า 200 ลบ.

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานภาพรวมการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ซึ่งเริ่มวันแรกในวันที่ 1 ก.ย 65 โดยมีความพอใจที่แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่ล่ม ผู้รับสิทธิสามารถเข้าไปใช้จ่ายได้สะดวกตั้งแต่ช่วงเช้า จนล่าสุด ณ เวลา 12.00 น. มียอดใช้จ่ายรวม 209 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายของประชาชน จำนวน 105.31 ล้านบาท และเป็นเงินอุดหนุนจากภาครัฐ จำนวน 103.69 ล้านบาท

สำหรับโครงการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีการใช้จ่ายไปแล้ว 404.5 ล้านบาท ขณะที่โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 ใช้จ่ายไปแล้ว 18.08 ล้านบาท

“ภาพรวมการใช้จ่ายไม่ได้ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีผู้ได้สิทธิรายเดิมในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 กดยืนยันรับสิทธิมาประมาณ 18 ล้านราย คงเหลืออีกราว 7 ล้านราย จึงขอเชิญชวนให้ผู้ได้สิทธิรายเดิมกดยืนยันรับสิทธิและใช้จ่ายครั้งแรกภายในวันที่ 14 ก.ย. นี้ เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิจากโครงการ”

นายพรชัย กล่าว

นายพรชัย กล่าวต่อว่า วงเงินที่รัฐอุดหนุนให้ 800 บาทต่อรายอยู่ในอัตราที่เหมาะสมแล้ว เพราะมีเป้าหมายในการรักษากำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในหลายโครงการของรัฐ ในการดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการอยู่ อาทิ การช่วยเหลือค่าก๊าซ ค่าพลังงาน รวมทั้งค่าไฟฟ้าในระยะต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังได้รับนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในเรื่องของการเตรียมของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ในการดูแลภาระค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยยืนยันว่าไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการ เพราะเป็นการใช้เม็ดเงินจากงบประมาณปี 66 อย่างไรก็ดี ต้องดูว่าจะให้ความช่วยเหลือกลุ่มไหน และจะออกนโนบายในการให้ความช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา

นายพรชัย กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 อีกหรือไม่ เนื่องจากโครงการคนละครึ่ง เป็นโครงการที่ออกมาเพื่อรักษาระดับกำลังซื้อให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกัน โครงการต้องใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ช่องทางหรือแพลตฟอร์มในการดูแลประชาชนในเรื่องของค่าครองชีพยังคงมีอยู่ เนื่องจากถือเป็นตัวเลือกหรือช่องทางหนึ่ง หากรัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์