วาระวัคซีนแห่งชาติเริ่มแล้ว!!!!! เช็คสถานที่ฉีด พร้อมข้อมูลน่ารู้ คลายทุกข้อสงสัย ทั้งก่อนฉีด และหลังฉีด  จากกรมควบคุมโรค

รัฐบาลประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้จัดให้วันที่ 7 มิ.ย. 64 เป็นวันคิกออฟการให้บริการฉีด”วัคซีนโควิด-19″ แบบปูพรมพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเป้าหมายจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แก่คนในประเทศไทย 67 ล้านคน จำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็นการจัดหาวัคซีนปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส และปี 2565 อีก 50 ล้านโดส

 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ระบุว่า ปัจจุบันได้มีการจัดจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ในต่างจังหวัดรวม 993 จุด ส่วน กทม.มีจุดฉีด 25 จุด สำนักงานประกันสังคมมี 25 จุด อีกจุดคือของทางมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 11 แห่ง และยังมีจุดฉีดกลางอีก 10 แห่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถาบันราชานุกูลสำหรับเด็กพิเศษและผู้ด้อยโอกาสผู้พิการ ศูนย์กลางแพทย์บางรัก แต่ละจุดฉีดจะมีการปรับเปลี่ยนได้ต่อไป โดยสามารถติดตามได้จากพื้นที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ

ขณะนี้มีวัคซีนในมือที่จะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไปรวมจำนวน 3,540,000 โดส และหลังจาก 2 สัปดาห์แรกแล้ว ในสัปดาห์ที่ 3 จะมีวัคซีนอีกอย่างน้อย 840,000 โดส และสัปดาห์ที่ 4 อีกจำนวน 2,580,000 โดส ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีการตกลงกับทางบริษัทเบื้องต้น อาจมีการเพิ่มหรือลด ในภาพรวมเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนมากกว่า 6 ล้านโดส ปลายเดือนนี้จึงคาดว่าจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสรวมจากฉีดไปก่อนแล้วเกือบ 4 ล้านโดส

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกลุ่มสีแดงเข้ม โดยเฉพาะกทม. และปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี มากกว่าพื้นที่อื่น  อย่างไรก็ตาม การจัดสรรวัคซีนของแต่ละพื้นที่อาจไม่สามารถฉีดให้แก่ประชาชนได้เพียง 4-5 วันเท่านั้น

 อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังกังวลว่าการฉีดวัคซีนจะมีผลข้างเคียงหรือไม่ อย่างไร และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมคำถามพร้อมตอบข้อสงสัยเพื่อเป็นข้อมูลแก่ประชาชน ดังนี้

ถาม  กลุ่มใดบ้างที่ควรได้รับวัคซีนโควิด 19

ตอบ  รัฐบาลได้มีนโยบายให้ประชากรทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย (ทั้งคนไทยและต่างชาติ) ได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างทั่วถึง โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร ภายในปี พ.ศ.2564 แต่ในช่วงที่มีจำนวนวัคซีนจำกัด อาจกำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือมีภาวะที่จะเป็นโรครุนแรงก่อน ได้แก่

– บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน

– ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจิตเวช ออทิสติก ผู้ที่ดูแลตัวเองไม่ได้รวมถึงผู้ดูแล

– ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

– เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด

– ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังมีการระบาด

ถาม ระยะห่างของวัคซีนโควิด 19 เข็มที่ 1 และ 2 นานที่สุดเป็นเท่าใด และในกรณีที่กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนครั้งที่ 2 เกินกำหนดระยะห่างจากครั้งที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรดำเนินการอย่างไร

ตอบ ระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท Sinovac คือ 2-4 สัปดาห์ สำหรับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca คือ 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ถ้าจำเป็น หากกลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนล่าช้า ขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามให้กลุ่มเป้าหมายมารับวัคซีนโควิด 19 ในครั้งที่ 2 โดยเร็วที่สุด ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ สามารถนับต่อเนื่องได้เลย

ถาม วัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ที่เป็นวัคซีนหลักมีกี่ชนิด

ตอบ วัคซีนโควิด 19 ที่มีให้บริการในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ

วัคซีนป้องกันโควิด 19 แอสตร้าเซนเนกา (COVID-19 Vaccine AstraZeneca) โดยให้ในในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์

วัคซีนโคโรนาแวค หรือ ซิโนแวด (CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine) เป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งขณะนี้กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์

ถาม หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 จะมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ตอบ จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด 19 แต่ละชนิด มักพบเป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนเหล่านี้จะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีความปลอดภัยและให้ใช้ได้แล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนเหล่านี้ก็ยังสามารถทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ในอัตราที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาทีในสถานพยาบาลหรือสถานที่ฉีดวัคซีนเสมอ และเนื่องจากวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่และยังไม่มีข้อมูลการติดตามผลในระยะยาว หากผู้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือไม่มั่นใจว่าอาการดังกล่าวเกิดจากวัคซีนหรือไม่ ควรแนะนำให้ผู้รับวัคซีนปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเกิดขึ้นในช่วง 4 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน (Adverse event following immunization)

ถาม  การเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนโควิด 19 มีอะไรบ้าง

ตอบ ปฏิบัติตัวตามปรกติ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาประจำได้ตามปรกติ ทำจิตใจให้ไม่เครียดหรือวิตกกังวล หากเจ็บป่วยไม่สบายควรเลื่อนการฉีดไปก่อน

 

 ที่มา : กรมควบคุมโรค / ฐานเศรษฐกิจ ออนไลน์