กรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ประชุมพิจารณาแผนงานและงบประมาณปี 2564 สานต่อ 12 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชน ผู้สูงวัย และคนยากจนในชนบท ทั้งต่อยอด ขยายผลพร้อมเริ่มโครงการฟื้นฟูป่าอมก๋อย กับปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรที่ห้วยทราย

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้จัดประชุมคณะกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อพิจารณาแผนงานและงบประมาณประจำปี 2564 โดยมี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิฯ เป็นประธานการประชุม คุณสุภกิต เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ พร้อมคณะกรรมการอีก21 ท่าน อาทิ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ คุณณรงค์ เจียรวนนท์ ดร.สารสิน วีระผล เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาแผนงานและงบประมาณการดำเนินงานประจำปีบริหาร 2564  (1 กรกฎาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565) โดยพิจารณางบประมาณและแผนงานที่ต่อเนื่อง 4 ด้านหลัก ได้แก่  1) งานศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร 2) งานด้านเด็กและเยาวชน 4 โครงการ 3) งานด้านผู้สูงอายุในชนบทห่างไกล 2 โครงการ 4) งานด้านผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนในชนบท  จำนวน  6 โครงการ รวม 12 โครงการ และพิจารณาแผนงานและงบประมาณสำหรับโครงการริเริ่มใหม่ 1 โครงการ ได้แก่โครงการฟื้นฟูป่าอมก๋อย หรือ อมก๋อยโมเดล

สำหรับ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ของมูลนิธิฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2531 โดยได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งศูนย์ฯ มีวัตถุประสงค์ในการฝึกทักษะอาชีพแก่เยาวชนให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ นับจากปี 2532 มีเยาวชนผ่านการฝึกอบรมอาชีพเกษตรและอาชีพช่าง รวม 31 รุ่น จำนวน 731 คน

การประชุมดังกล่าว  คณะกรรมการได้เห็นชอบให้มูลนิธิฯ ปรับปรุงศูนย์ฯ  ให้มีความพร้อมรับเยาวชนและผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน รวมทั้งวางแนวทางพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรทันสมัย 4.0 พร้อมโปรแกรมการอบรมที่เหมาะสมให้เยาวชน ตลอดจนเกษตรกรทั่วไป สามารถนำไปต่อยอดอาชีพได้

ส่วนงาน ด้านเด็กและเยาวชน ซึ่งประกอบด้วย 1) โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน 2)โครงการสนับสนุนนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ 3) โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม และ 4) โครงการพัฒนาอาชีพด้านบริบาล

ทั้งนี้ในส่วนของ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มูลนิธิฯ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีโภชนาการที่ดี โรงเรียนสามารถบริหารจัดการกองทุนที่เป็นรายได้จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ บูรณาการการเรียนรู้จากการเลี้ยงไก่ไข่ โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการจัดการอาชีพเกษตรธุรกิจของชุมชน โดยมีองค์กรพันธมิตรร่วมโครงการ

อาทิ ซีพีเอฟ แม็คโคร และ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ ผลดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 ถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วม 880 โรงเรียน มีเด็กนักเรียนที่ได้รับประโยชน์กว่า 159,000 คน ชุมชนได้ประโยชน์ 1,568 แห่ง ภาวะทุพโภชนาการนักเรียนลดลงจากร้อยละ 16.5 เป็นร้อยละ 11.5 นักเรียน ครู และชุมชน ได้รับการถ่ายทอดชุดความรู้ธุรกิจการเลี้ยงไก่ในปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายเพิ่มโรงเรียนเข้าร่วมใหม่ 25 โรงเรียน และพัฒนา 30 โรงเรียนเดิมที่มีผลดำเนินงานที่ดีให้ดียิ่งขึ้น

โครงการสนับสนุนนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ จากการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน พบว่า นักเรียนที่จบประถม 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ขาดโอกาสเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

มูลนิธิฯ จึงร่วมสนับสนุนนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นตามความสามารถ และกลับไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน มีเยาวชนผ่านโครงการ 202 คน จบระดับอุดมศึกษา 30 คน ม.3 ม.6 ปวช. และ ปวส. 67 คน กลับภูมิลำเนา 25 คน กำลังศึกษา 80 คน สำหรับปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายรับนักเรียนทุนเพิ่ม 16 คน รวมมีนักเรียนทุนในความดูแล 96 คนรวมทั้งการจัดตั้งชมรมศิษย์เก่าโครงการฯเพื่อผนึกกำลังการเป็นเครือข่ายการพัฒนา

โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม เกิดจากดำริของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลจากนักวิชาการอาวุโสของไต้หวันว่า เด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า จะขาดความรักความอบอุ่นในบรรยากาศครอบครัว จึงขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีโอกาสเป็นระเบิดเวลาของสังคม จึงให้มูลนิธิฯ สรรหาครอบครัวเกษตรกรภาคอีสานซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความแข็งแรงในการสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น มาเป็นครอบครัวทดแทน ช่วยเลี้ยงดูเด็กกำพร้าให้เติบโตในบรรยากาศครอบครัว ท่ามกลางชุมชนวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนดีของสังคม

จากปี 2545 ที่เริ่มโครงการถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ รับเด็กมาดูแล รวม 298 คน สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมได้ 211 คน กลับสถานสงเคราะห์ 10 คน ส่งมอบสู่ครอบครัวบุญธรรมในไทยและต่างประเทศ 49 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้แล้ว 4 คน และอยู่ในความดูแลของโครงการ 65 คน

ในปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายรับเด็กเพิ่มอีก 35 คน เพื่อให้มีเด็กกำพร้าในความดูแลของโครงการครบ 100 คน/ปี โดยมีองค์กรพันธมิตรร่วมโครงการได้แก่

โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เป็นดำริของ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการมูลนิธิฯ ที่จะช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสด้านการศึกษาให้มีอาชีพบริบาลผู้สูงอายุและผู้ป่วย โดยมูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน สามารถผลิตบุคลากรด้านการบริบาลรวม 64 คนสำหรับปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายจะผลิตเพิ่มอีก 100 คน และเปิดให้กิจการในเครือซีพีและเพื่อนพนักงานร่วมสมทบทุนดำเนินโครงการ

สำหรับงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย 1) โครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทที่ห่างไกล และ 2) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้สุขภาพชุมชนผู้สูงวัย เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ที่เห็นว่าผู้สูงอายุล้วนเคยสร้างประโยชน์มาก่อนหน้า สมควรที่ทุกกิจการในเครือซีพีต้องแสดงความกตัญญูและตอบแทนบุญคุณ

มูลนิธิฯ จึงดำเนินโครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทที่ห่างไกล มาตั้งแต่ปี 2561 ใน 2 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงรายและนครพนม จำนวน 20 ราย โดยมอบเงินดำรงชีพรายเดือน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ชุมชน และพนักงานจิตอาสา เข้าเยี่ยมดูแลสุขภาพ สร้างขวัญ กำลังใจ

ปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายดูแลผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 30 ราย ในพื้นที่จังหวัด เชียงราย นครพนม และ เพชรบุรี

โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้สุขภาพชุมชนผู้สูงวัย เพื่อผลักดันให้เกิดศูนย์เรียนรู้สุขภาพชุมชนผู้สูงวัยให้เป็นศูนย์บริการด้านสุขภาพ ที่มีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จัดสรรรายได้สนับสนุน โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 นำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและนครพนม สามารถสร้างวิสาหกิจชุมชนได้ 5 แห่ง

สำหรับปีงบประมาณ 2564 มีเป้าหมายส่งเสริมชุมชนสร้างวิสาหกิจชุมชนเพื่อผู้สูงอายุอีก 1 แห่ง

สำหรับงานด้านผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนในชนบท ซึ่งประกอบด้วย 6 โครงการได้แก่ 1) โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ 2) โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3) โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ 4) โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ 5) โครงการพัฒนาอาชีพปากรอ และ 6) โครงการพัฒนาการตลาดร้านค้าชุมชน และ E-Commerce

โดยโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ มูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมสนับสนุนการรวมกลุ่มและพัฒนาเครือข่ายสหกรณ์ พร้อมปลูกจิตสำนึกรักและหวงแหนผืนดินพระราชทานและงานสหกรณ์แก่เยาวชน ด้วยการจัดค่ายเยาวชน “รักษ์สหกรณ์” ตั้งแต่ปี 2530 โครงการห้วยอง   คตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิฯ ได้เข้าสนับสนุนมูลนิธิชัยพัฒนาตั้งแต่ปี 2536 ในการสร้างกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ 20 รายที่มีรายได้ที่มั่นคง สร้างกลุ่มอาชีพใหม่ สร้างกลุ่มออมทรัพย์เกษตรกร และจัดกิจกรรมอบรมเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มูลนิธิฯ ได้ร่วมสาธิตการเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ปี 2554 โดยสนับสนุนโรงเรือนไก่ไข่ อุปกรณ์ พันธุ์ไก่ไข่และอาหาร พร้อมสนับสนุนชุดความรู้การเลี้ยงไก่ไข่อย่างต่อเนื่อง โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ มูลนิธิฯ ได้น้อมนำแนวคิดทฤษฎีใหม่มาดำเนินการตั้งแต่ปี 2540 ด้วยการส่งเสริมอาชีพเกษตรกร 605 ราย สร้างผู้นำอาชีพเกษตรก้าวหน้าและพัฒนาชุดความรู้ให้เกษตรกร

โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอตามดำริของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในตำบลปากรอ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2540 โดยร่วมส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ ให้ชาวปากรอพ้นจากความยากจน เกิดเกษตรกรต้นแบบ 8 ราย เกิดศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 2 แห่ง ส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสร้างเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์

โครงการพัฒนาการตลาดร้านค้าชุมชนและE-Commerce โดยมูลนิธิฯได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี2561 โดยการร่วมสนับสนุนจัดอบรมภาคทฤษฎีธุรกิจค้าปลีกให้กับคณะกรรมการร้านค้า ศูนย์สาธิต ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 790ร้านค้า สามารถเพิ่มยอดขาย 10-15%และสร้างประโยชน์กลับสู่ชมุชน โดยมีเป้าหมาย อบรมภาคปฏิบัติธุรกิจค้าปลีก 36 ร้านค้า สำหรับปีงบประมาณ2564 มีเป้าหมายอบรมความรู้เรื่อง E-Commerce และภาคปฏิบัติธุรกิจค้าปลีก 40 ร้านค้า

สำหรับโครงการที่มูลนิธิฯได้ริเริ่มใหม่คือ โครงการปลูกป่าอมก๋อย หรือ “อมก๋อยโมเดล” สืบเนื่องจาก คุณสุภกิต เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ มีความห่วงใยและเห็นความสำคัญของพื้นที่ป่าในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลย เดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้ง 3 พระองค์ทรงมีพระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอำเภออมก๋อยที่เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ

แต่ปัจจุบันมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจนมีผลกระทบต่อธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ จึงมีแนวทางให้มูลนิธิฯ เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการในอำเภออมก๋อย ดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพัฒนาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 10,000 ไร่ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ภายในระยะเวลา 5 ปี ในพื้นที่เป้าหมาย 3 ตำบลได้แก่ ตำบลนาเกียน ตำบลยางเปียง ตำบลม่อนจอง

โดยจะเริ่มโครงการในปี 2565 คาดว่าจะทำให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ธรรมชาติและระบบนิเวศน์ได้รับการฟื้นฟู มีการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ลดการเผา การใช้สารเคมี ชุมชนมีคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน

ทั้งนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้พิจารณาเห็นชอบอนุมัติแผนงานและงบประมาณโครงการต่อเนื่องของ 1) ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตร 2) งานด้านเด็กและเยาวชน 4 โครงการ 3) งานด้านผู้สูงอายุในชนบท 2 โครงการ และ 4) งานด้านผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจนในชนบท 6 โครงการ รวม 12 โครงการ และแผนงานและงบประมาณโครงการริเริ่มใหม่ โครงการปลูกป่าอมก๋อย หรือ “อมก๋อยโมเดล” ตามที่เสนอจำนวน 39.6 ล้านบาท

Cr. CP foundation