CP เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับงานพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ดันโมเดลปุ๋ยชุมชน ‘ฮักน้ำยม’ ผ่านการรับรอง โครงการ Less จาก อบก.

เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยผ่านโครงการต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นรูปธรรมแบบยั่งยืน ร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2030 ของเครือฯ ที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral

จากปัญหาที่ทั่วโลกให้ความตะหนักเรื่องภาวะโลกร้อน เครือ CP ได้ยกระดับการพัฒนางานชุมชนที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยพัฒนาโครงการ ปุ๋ยชุมชน บ้านดอนไชยป่าแขม ต.ออย อ.ปง จ.พะเยา นำทักษะที่ชุมชนมีในด้านการทำปุ๋ย มาพัฒนาต่อยอดในการลดต้นทุนทางการเกษตร ได้ผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การบริหารส่วนตำบลออย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง และวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดยในเดือนมีนาคม 2565 ได้รับการรับรองจากโครงการ Less ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก – องค์การมหาชน (อบก.) หนึ่งในโมเดลที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำอีกครั้ง โดยได้รวบรวมแหล่งวัตถุดิบจากวัสดุทางการเกษตร ตั้งแต่ปี 2563 ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม จำนวน 2,000 กก. สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,703 kgCO2eq คิดแล้ว ประมาณ 1.7 tCO2eq

คุณนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืนธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า โครงการปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม จ.พะเยา เป็นโครงการที่สนับสนุนเรื่องการแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร โดยรวมกลุ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสามารถเพิ่มอาชีพทางเลือกและรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งมีแนวคิด 5 ลด 1 เพิ่ม คือ ลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมี ลดความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ ลดปัญหาขยะชุมชน ลดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผา และ เพิ่มมูลค่า โดยปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพนี้มีส่วนผสมจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์ในพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในชุมชน เช่น เปลือกข้าวโพด และมูลวัว ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 78 คน ตั้งเเต่ปี 2562 – 2565 ผลิตปุ๋ยได้ 55,925 กิโลกรัม


โดยสมาชิกกลุ่มนำไปจำหน่วยให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนฯ จ.น่าน จ.พะเยา และ จ.เชียงใหม่ สามารถสร้างรายได้เพิ่มภายในกลุ่มได้ 283,135 บาท โดยโมเดลแปรรูปปุ๋ย เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ได้มีการยกระดับสร้างตราสินค้าเพื่อสร้างความจดจำ เป็นชื่อ ฮักษ์น้ำยม ซึ่งอยู่ในกระบวนการจดเครื่องหมายการค้า เชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นแล้ว CP ยังร่วมกับชุมชนมีโครงการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างป่า และสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรในบ้านดอนไชยป่าแขม จากเดิมเกษตรกรที่นี่ปลูกพืชไร่เป็นหลัก อาทิ ข้าวโพด มันสําปะหลัง ยาสูบ ผักกาดเขียวปลี ถั่วแระญี่ปุ่น มี ได้เพิ่มโครงการเสริมการสร้างป่า อาทิ ด้านการปลูกกาแฟ และไผ่ พืชเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อไป