เชิญชม ๘ สุดยอดการแสดง ลำตัด โนรา นาฏศิลป์ไทย ระดับรางวัล ในงานประกวด ‘การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน’ ปี ๒๕๖๓

การแสดงนาฏศิลป์ไทยจากวัฒนธรรมท้องถิ่นของไทยถูกนำมาสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด ‘การต่อต้านการทุจริต’ โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ สะท้อนมุมมองความคิดเห็นต่อการทุจริตอย่างมีอารยธรรม ผ่านการแสดงอันทรงคุณค่า อาทิ ลำตัด โนรา นาฏดนตรี ที่หาชมได้ยาก

การประกวด ‘การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน’ ประจำปี ๒๕๖๓ จัดขึ้นโดย มูลนิธิต่อต้านการทุจริต นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ ผนึกกำลัง กระทรวงวัฒนธรรม โดย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรู โดย ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา บมจ.ทรู คอร์ปเรชั่น พร้อมผู้สนับสนุน ได้แก่ ธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกต่อต้านการทุจริตผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้านสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต ให้กับพี่น้องประชาชนในแต่ละภูมิภาค ผ่านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่น

และในการณ์นี้ได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติร่วมเป็นกรรมการตัดสิน โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในงานตัดสินและมอบรางวัล ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ๘ กลุ่มการแสดงที่ได้รับรางวัล ได้แก่

 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี จ.เพชรบุรี การแสดงลำตัดต่อต้านการทุจริต รับรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา ๑๐๐,๐๐๐ บาท

รองชนะเลิศอันดับที่ ๑ ได้แก่ โรงเรียนแจ้งวิทยา จ.สงขลา การแสดงโนรารวมใจ ต้านภัยทุจริต

รับรางวัลถ้วยเกียรติยศ จากกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา ๘๐,๐๐๐ บาท

รองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๑๒ (บ้านเอก) จ.เชียงใหม่ การแสดงฟ้อนซอปูจา พุทธรรมาต้านทุจริต รับถ้วยเกียรติยศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา ๖๐,๐๐๐ บาท

รองชนะเลิศอันดับที่ ๓ ได้แก่ วิทยาลัยนาฏศิลป จ.นครปฐม การแสดงพื้นบ้านต่อต้านการทุจริต

รับรางวัลถ้วยเกียรติยศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต

พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา ๔๐,๐๐๐ บาท

รางวัลชมเชย ๔ รางวัล ได้แก่

1.วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จ.อ่างทอง การแสดงนาฏดนตรีร่วมใจต้านภัยทุจริต

2.โรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง การแสดงสานศิลป์ถิ่นใต้ต้านทุจริต

3.โรงเรียนรมย์บุรีพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.บุรีรัมย์ การแสดงกันตรึมโบราณต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

4.โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา จ.อุบลราชธานี การแสดงลำเพลินต้านทุจริต

โดยรางวัลชมเชยจะได้รับ โล่รางวัลมูลนิธิต่อต้านการทุจริต พร้อมเกียรติบัตรและทุนการศึกษา ๒๐,๐๐๐ บาท

ซึ่งในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน ๒๐๘ ทีม ๖๔ จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกจนเหลือ ๘ ทีมที่เป็นที่สุดของการประกวด ‘การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน’ โดยการแสดงที่เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้ง ๘ ทีม จะได้รับการนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อต่าง ๆ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น อย่างต่อเนื่อง