เปิดแนวคิด ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือซีพี เสนอวิสัยทัศน์ภาคเอกชนไทยสู่การลงทุนระดับโลก  ชู 3 กลยุทธ์ซีพีปั้นธุรกิจในสหรัฐฯ  “ครัวของโลก” สร้างโอกาส-ขยายตลาด-พัฒนานวัตกรรม  

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดงานเสวนา SelectUSA: Helping Thai Companies Go Global” เชิญภาคเอกชนไทยที่มีบทบาทลงทุนในต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ และประสบการณ์ในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในสหรัฐอเมริกา โดยคุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเสวนาเรื่อง Case Studies of Global Expansion – Lessons Learned” ถอดบทเรียนการขยายตัวของภาคเอกชนไทยสู่การลงทุนระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย และเปิดให้สามารถเข้ารับชมการเสวนาผ่านระบบออนไลน์

คุณบุญชัย กล่าวว่า  เครือเจริญโภคภัณฑ์ขยายการลงทุนในต่างประเทศโดยยึดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์  คือ คือการเข้าไปสร้างประโยชน์ต่อประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ ต่อมาคือประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศนั้นๆ และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งในการดำเนินธุรกิจนั้นเริ่มต้นจากการนำประสบการณ์จากการทำธุรกิจในประเทศไปปรับใช้ จากนั้นเร่งสปีดปรับตัวในเข้าทำธุรกิจท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อให้เกิดการขยายตลาดอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศตั้งแต่ปี 2549-2562 จะเห็นได้ว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับบริษัทไทยในการสำรวจโอกาสทางธุรกิจในระดับโลก

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลือกลงทุนในสหรัฐฯ  ด้วยเหตุผลหลักที่สำคัญคือ 1.สหรัฐเป็นประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกและส่งผลให้มีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2. เมื่อมองถึงอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของซีพี สอดคล้องกับในพื้นที่แถบมิดเวสต์ของสหรัฐที่มีการปลูกข้าวโพด และถั่วเหลืองมาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของซีพี 3.สหรัฐฯมีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งซีพีให้ความสำคัญเรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ขององค์กร

คุณบุญชัย กล่าวว่า ซีพีได้เข้าไปลงทุนในสหรัฐโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เข้าซื้อหุ้น 100% ด้วยเม็ดเงิน 38,000 ล้านบาท ในบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 เพื่อรองรับเทรนด์อาหารแช่แข็งทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญของซีพี และเป็นหนึ่งในเป้าหมาย Kitchen of The World ที่ประธานอาวุโสเครือซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศไว้นับตั้งแต่ปี 2542

นอกจากการเข้าซื้อกิจการแล้ว ซีพียังได้สร้างธุรกิจใหม่อีก 2 แห่งในรัฐเท็กซัสและฟลอริด้าอีกด้วย โดยรูปแบบดำเนินธุรกิจของซีพีในสหรัฐฯ คือ ให้ความสำคัญกับการต้องเข้าใจวิถีคนอเมริกัน ทำความเข้าใจด้านพฤติกรรม ทัศนคติและวัฒนธรรมอเมริกัน เพื่อจะได้เข้าใจการทำธุรกิจแบบอเมริกัน อย่างกรณีเบลลิซิโอนั้น ซีพีจ้างพนักงานสัญชาติอเมริกันทั้งหมด 2,000 คน โดยมีคนไทยเพียง 5 คนเท่านั้น เพราะเมื่อเราเข้าใจวิถีอเมริกันได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ทีมงานจะสามารถช่วยเราในการสร้างธุรกิจใหม่หรือ Greenfield Business ได้

“ เราเข้าไปลงทุนในสหรัฐไม่ได้หมายถึงการเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาเพียงอย่างเดียว แต่เรายังได้สร้างธุรกิจใหม่อีกสองแห่งในเท็กซัสและฟลอริดาอีกด้วย ซึ่งเกณฑ์สำคัญที่ทำให้เราเลือกระหว่างการซื้อกิจการ หรือการสร้างธุรกิจใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอยู่  2 ประการคือ เมื่อเราเข้าไปเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ เราจำเป็นต้องอาศัยคนอเมริกันเองในการบริหารจัดการงาน    เราต้องเข้าใจพฤติกรรม ทัศนคติและวัฒนธรรมอเมริกัน เพื่อจะได้เข้าใจการทำธุรกิจแบบอเมริกัน”

การเสนวนาในครั้งนี้ นอกจากคุณบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา เครือเจริญโภคภัณฑ์  ยังมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายอาลก โลเฮีย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wearecp.com/cp-15012021/