นักศึกษาหลักสูตรรวมมิตร เยี่ยมชม “สถาบันผู้นำ ซีพี” ศึกษาปัจจัยสำเร็จในการสร้างคนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ ซีอีโอ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ชี้ประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์คือหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาคน 5.0

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ก.พ.67 ที่ผ่านมา คณะนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 หรือ หลักสูตรร่วมมิตร นำโดย พล.ต.อ.วิสณุ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการหลักสูตรรวมมิตร  ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมรับฟังวิสัยทัศน์จาก คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนธุรกิจยุค 5.0” หรือ “The World of 5.0” นอกจากนี้ คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้อำนวยการ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แนะนำและกล่าวสรุปให้นักศึกษา หลักสูตรรวมมิตร ได้รู้จักและเข้าใจสถาบันผู้นำ ซีพี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการสร้างคนสู่การเป็นผู้นำของเครือซีพี  ทั้งนี้โดยมี  ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาที่เข้าร่วมชมงานในครั้งนี้ซึ่งล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชน ข้าราชการระดับสูงจากภาครัฐ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  อาทิ คุณกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ บริษัท  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย คุณชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คุณวรภัค ธันยาวงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ด้านการเงินการธนาคาร บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก คุณสุรธนว์ คงทน ประธานผู้บริหาร Wholesale Banking ธนาคารกรุงไทย คุณฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป คุณเข็มทัศน์ มนัสรังสี กรรมการบริษัท เค-เฟรช จำกัด

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ในหัวข้อ  “ขับเคลี่อนธุรกิจยุค 5.0” โดยนำเสนอให้เห็นว่าปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับ 6 ความท้าทาย ได้แก่ 1.สังคมเหลื่อมล้ำ 2.การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเอไอ 3.ภูมิอากาศผันผวน หรือ Climate Change 4.การเปลี่ยนผ่านพลังงาน 5.เศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองโลกผันผวน 6.สุขภาพมนุษย์  พร้อมกันได้แบ่งปันประสบการณ์จากการเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ปี 2567 หรือ World Economic Forum 2024 หรือ WEF 2024 ที่จัดขึ้นที่กรุงดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ โดยระบุว่าประเด็นร้อนแรงที่เป็นที่พูดคุยกันมากที่สุดใน WEF 2024 คือเรื่อง AI ซึ่งไม่ได้หมายความว่า AI จะเข้ามาแทนที่คน แต่มีความท้าทายคือคนที่ใช้ AI เป็น จะมาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น และอีกเรื่องคือ พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อน Net Zero เพื่อลดโลกร้อน

ซีอีโอ ศุภชัย แสดงทัศนะต่อไปว่า ประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือ หัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ สังคมก็ขึ้นอยู่กับระดับจุลภาค นั่นก็คือ มนุษย์ หรือ ประชาชน ว่ามีคุณภาพอย่างไร  สำหรับประเทศไทยนั้นซีอีโอ ซีพีได้ชี้ให้เห็นว่าความสามารถทางดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 35  ซึ่งวัดจาก 63 ประเทศ โดยการจัดอันดับของ IMD World Compettitiveness  ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลก  ประเทศไทยมีความท้าทายคือคนไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษ โดยพบว่าไทยมีทักษะดิจิทัลขั้นสูงเพียง 1% ส่วนภาษาอังกฤษอยู่ในระดับ 101 จาก 113 ประเทศ ตามหลังอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “คน” เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

การพัฒนาคน 5.0  ทำอย่างไร ซีอีโอ ซีพี ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยปรับหลักสูตรการศึกษา บรรจุวิชาคอมพิวเตอร์ และ AI เป็นวิชาการพื้นฐาน  ยกตัวอย่างประเทศเอสโตเนียได้พัฒนาสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก  ด้วยการพัฒนาเด็กและเยาวชน กำหนดให้ทุกสถานศึกษาต้องมีคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน  เด็กไทยทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์โดยต้องเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีคุณธรรม หรือ Ethical computer เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่ ป.1 โดยมีคลาวด์ควบคุมคัดกรองคอนเทนต์  รวมถึงต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามความสนใจและได้ศึกษาค้นคว้า เมื่อเด็กได้ศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจะช่วยเพิ่มความสามารถในแก้ไขปัญหา  และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ซีอีโอ ซีพี กล่าวต่อไปว่า ประเทศที่สร้างนวัตกรรมระดับโลก  ต้องมีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศูนย์นวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งถ้าทำได้ ก็เท่ากับการสร้างคนได้เช่นกัน อาจใช้งบลงทุนเพื่อดึงนักวิทยาศาสตร์  ลงทุนอุปกรณ์ และทุนวิจัย ถ้าทำได้จะช่วยสร้างคนทำให้ไทยกลายเป็น Tech Hub ได้จริง

นอกจากนี้คณะนักศึกษาหลักสูตรรวมมิตร ได้รู้จักและเข้าใจบทบาทของสถาบันผู้นำ ซีพี  รวมถึงการพัฒนาคนในระดับเครือฯผ่านการถ่ายทอดจาก คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์  ในฐานะผู้อำนวยการ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยระบุว่าสถาบันผู้นำ ซีพี ก่อตั้งเมื่อ 3  ต.ค. 59 ตามวิสัยทัศน์ของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์  เพื่อให้เป็นสถาบันพัฒนาผู้นำที่เป็นระดับโลก เพราะกุญแจสำคัญของซีพีก็คือ “คน” นอกจากภารกิจสำคัญในการสร้างผู้นำ สถาบันผู้นำแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะยุทธศาสตร์ระดับเครือ เป็นจุดที่สร้างการผนึกกำลัง และสร้างความยั่งยืนทั้งแก่ธุรกิจ และประเทศชาติ ปัจจุบันสถาบันผู้นำสามารถสร้างผู้นำไปแล้วจำนวนมาก  โดยเป็นการสร้างผ่านโครงการพัฒนาผู้นำ 4 ระดับ ได้แก่  1.เถ้าแก่น้อย (FLP) 2.เถ้าแก่เล็ก (PLP) 3.เถ้าแก่กลาง (LDP) 4.เถ้าแก่ใหญ่ (SLP) แต่ละหลักสูตรมีระยะเวลา 6 เดือน เน้นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง หรือ Action base ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่สามารถเร่งในการพัฒนาคนได้เป็นอย่างดี  ตลอดหลักสูตรมีการประเมินผลตลอด  และผู้นำของซีพีต้องดีและเก่ง โดยมีการปลูกฝังหลักค่านิยม 6 ประการของเครือฯ ได้แก่ สามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ทำเร็วและมีคุณภาพ ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ยอมรับการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งใหม่  และมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ เพราะผู้นำเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีตามหลักค่านิยม 6 ประการด้วย

ในการเยี่ยมชมสถาบันผู้นำ ซีพี ครั้งนี้ คณะนักศึกษาหลักสูตรรวมมิตรยังได้รับชมวิดีทัศน์ “เมล็ดพันธุ์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”  หรือ Seeding the Future และ วิดีทัศน์ล่าสุดในโอกาสครบ 100 ปีเจียไต๋และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ชื่อ “เมล็ดพันธุ์”เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ซึ่งสร้างความเข้าใจเรื่องวิสัยทัศน์  จุดมุ่งหมาย ค่านิยมและเจตนารมย์ในการทำธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ตั้งแต่ 100 ปีที่ผ่านมาและอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งได้สร้างความประทับใจแก่คณะนักศึกษารวมมิตร และทำให้เข้าใจเครือซีพีมากยิ่งขึ้น

พล.ต.อ.วิสณุ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการหลักสูตรรวมมิตร และคณะนักศึกษาหลักสูตรรวมมิตร ต่างรู้สึกประทับใจ และได้แสดงความขอบคุณซีพีที่ให้โอกาสเข้าเยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการทำความดีที่ไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงการใส่ใจในทุกรายละเอียด ในการพัฒนาคน และการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ สำหรับหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ หลักสูตรร่วมมิตร เป็นหลักสูตรอบรมประกอบด้วยภาคส่วนสำคัญ คือ ตำรวจระดับชั้นนายพล ภาคราชการ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงให้เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถนำองค์กรก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ พัฒนาให้เป็นนักบริหารระดับมืออาชีพมีความเชี่ยวชาญการบริหารงานอย่างรอบด้าน และเป็นนักบริหารที่มีหลักธรรมาภิบาล