ซูเปอร์มาเก็ตในเยอรมัน ขายของหมดอายุ-ใกล้หมดอายุ ช่วยลดขยะอาหารปีละ 2,000 ตัน

ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่เหมือนใครอยู่แห่งหนึ่งที่ชื่อ SirPlus แทนที่จะวางจำหน่ายสินค้าสดใหม่ไร้ตำหนิ พวกเขากลับขายอาหารกระป๋องและอาหารแพ็คเกจที่ใกล้หรือพ้นวันหมดอายุไปแล้ว และสินค้าที่มีฉลากไม่ถูกต้อง ผลไม้และผักที่ไม่สวยและถูกเมินจากร้านอื่นๆ สินค้าพวกนี้วางขายโดยมีส่วนลดสูงสุดถึง 80% ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

SirPlus คือ สตาร์ทอัพที่ตั้งใจจะสร้างแรงสั่นสะเทือนในด้านบวกด้วยการรณรงค์ต่อต้านขยะจากอาหาร ร้านค้าต่างๆ มักจะทิ้งอาหารส่วนที่ใกล้หรือหมดอายุไปแล้ว พวกที่ไม่ผ่าน QC อย่างง่ายดาย เพราะมันไม่ “สวย” พอหรือใกล้หมดอายุแล้วซึ่งหากลูกค้านำไปบริโภคอาจเกิดปัญหา แต่ SirPlus เห็นว่าอาหารไม่ได้หมดอายุจริงๆ ตามเวลาที่ระบุไว้ในฉลาก

พวกเขาจึงนำอาหารส่วนเกินกลับเข้าสู่วงจรโดยเสนอขายในร้านของพวกเขาที่เรียกว่า “ตลาดกอบกู้” และยังขายผ่านออนไลน์ด้วย โดย SirPlus จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมอาหาร 700 แห่ง โดยรับสินค้าส่วนเกินหรือที่ไม่ต้องการแล้วจากเกษตรกร, บริษัทโลจิสติกส์, ผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก

ซัพพลายเออร์อาจบริจาค “ของเสีย” หรือขายให้แก่ SirPlus ในราคาต่ำมาก ด้วยวิธีการนี้บริษัทต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ากำจัดเพื่อกำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง และเมื่อคลังสินค้าของ SirPlus เต็มแล้ว อาหารที่ไม่สามารถรองรับได้จะยกให้ฟรีสำหรับองค์กรการกุศลในท้องถิ่นและงานช่วยเหลือสาธารณะอื่นๆ

ถามว่าถ้าอาหารใกล้หมดอายุแล้วหรือหมดไปแล้วจะไม่เป็นปัญหาหรือหรือถ้านำมาจำหน่ายต่อ? ตอบว่าก่อนที่จะไปถึงชั้นวางของจำแหน่าย SirPlus จะมีการตรวจสอบรายการอาหารอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างปลอดภัยที่จะรับประทาน และหากมีข้อสงสัยจะเรียกห้องแล็บเข้ามาตรวจสอบ

อีกอย่างก็คือ ในเยอรมนีมีกฎว่าหากสินค้าที่หมดอายุแล้วแต่ยังสามารถบริโภคได้ ก็ยังสามารถนำขายได้อย่างถูกกฎหมายโดยทางผู้จำหน่ายต้องแจ้งลูกค้าก่อนว่าสินค้าหมดอายุแล้ว ด้วยนโยบายนี้ช่วยให้ SirPlus สามารถป้องกันขยะอาหารได้ประมาณ 2,000 ตันต่อปี

อาหารเหลือราคาถูกเหล่านี้ไม่ได้ได้มาฟรี แต่พวกเขาจ่ายเงินซื้อมาเพื่อให้สอดคล้องกับห่วงโซ่ภาษีการขาย แต่จะจ่ายในราคาที่เหมาะสมเพื่อไม่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมผลิตอาหารมากเกินไปและในราคาที่ไม่กระทบต่อเกษตรกรและพ่อค้าคนกลาง

การดำเนินการของ SirPlus ยังช่วยเติมช่องว่างให้แก่งานการกุศลด้วย แต่ละปีธนาคารอาหารและองค์การที่ทำงานแจกอาหารฟรีไม่สามารถแบกรับอาหารเหลือจากบริษัทต่างๆ ได้ทันเพราะมันมีมากเหลือเกิน SirPlus จึงเข้ามาเสริมในจุดนี้เพราะมีศักยภาพในการจัดเก็บมากและยังจำหน่ายออกไปได้ด้วย

ในแต่ละปีมีอาหาร 18 ล้านตันถูกทิ้งให้สูญเปล่าในเยอรมนี อาหารถูกทิ้งเท่ากับปริมาณรถบรรทุกทุกๆ นาที จากข้อมูลของ WWF ระบุว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงอาหารเหลือทิ้งได้ถึง 10 ล้านตัน และยังสามารถช่วยกอบกู้ได้อีกนับล้านตันจากผู้ผลิตและผู้ค้าส่ง ด้วยวิธีนี้ลูกค้าและคู่ค้าของ SirPlus จะมีส่วนร่วมที่สำคัญในการบริโภคอย่างยั่งยืนและการปกป้องสภาพอากาศ

แน่นอนว่าพวกขายังไม่ได้ทำกำไรจากการทำกิจการแบบนี้ แต่หวังว่าจะมีกำไรในอนาคตเพื่อที่จะดำรงอยู่ต่อไปและสานต่อธุรกิจในระยะยาว ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพวกเขาตั้งเป้าที่จะกอบกู้อาหารส่วนเกินหลายล้านตัน โดยกำลังลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยกอบกู้อาหารได้มากขึ้นในอนาคต

 

ทีมา : Page igreen

ข้อมูลจาก

  • “This German supermarket’s shelves are filled with food other stores won’t sell” (February 17, 2020). World Economic Forum).
  • “Mission & Vision”. https://sirplus.de/pages/mission