31 พ.ค.วันงดสูบบุหรี่โลก  แนะใช้สถานการณ์โควิด-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นจุดเริ่มต้นลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในปัจจุบันเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า COMMIT TO QUIT” เพื่อให้ 180 ประเทศสมาชิกร่วมรณรงค์ผลักดันเชิงนโยบายและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ทุกประเภท รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ส่งเสริมให้ผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกเลิกบุหรี่ให้ได้ 100 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยได้กำหนดเป็นคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2564 ไว้ว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” และในปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 รายในแต่ละวัน

พฤติกรรมการสูบบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นพฤติกรรมเสี่ยง จากการสูบจะเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายและรับหรือสัมผัสเชื้อได้ และในขณะสูบก็ไม่สามารถสวมหน้ากากอนามัยได้ ควันจากการสูบบุหรี่มีสารเคมีและความร้อน 800 องศาเซลเซียสจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง

ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 3 – 5 เท่า และหากมีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ถึง 14 เท่า

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีภารกิจหลักในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทุกประเภท รวมถึงสุราและบุหรี่ ซึ่งการเลิกสูบบุหรี่อาจจะดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น มีผลดี ทั้งต่อตัวผู้สูบและคนใกล้ชิด ช่วยยับยั้งการถูกทำลายของเซลล์ปอด ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของตนเองและบุคคลใกล้ชิด ร่วมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการุนแรงหากติดเชื้อ

การเลิกสูบบุหรี่มีหลายวิธี การรักษาด้วยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ ร่วมกับศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600 ในสถานบริการทุกระดับ ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลหรือร่วมกับการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ เช่น หมากฝรั่งนิโคติน แผ่นแปะนิโคติน ยารับประทาน สมุนไพรหญ้าดอกขาว และทางเลือกอื่น ๆ ในส่วนของผู้mujสามารถหักดิบเลิกได้ด้วยตนเอง เช่น ออกกำลังกาย ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ดื่มน้ำ อมมะนาว เป็นต้น หากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือ ศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600

  สูบบุหรี่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนปกติที่ไม่สูบถึง 14 เท่า

คุณรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ขณะนี้โควิด-19 ที่ระบาดในไทย เป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษที่ติดเชื้อง่ายและมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเชื้อจะลงไปที่ปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้มากขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก

“ขอฝากถึงคนที่สูบบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการอักเสบเรื้อรังในหลอดลมและปอดอยู่แล้วจากพิษของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเอง ทำให้ความสามารถในการขจัดสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอดที่มากับลมหายใจลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ง่ายกว่าคนปกติ สสส. จึงขอเชิญชวนให้คนที่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เลิกสูบ เพื่อสุขภาพของตนเองและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ สสส. กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการรับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น

โดยมีงานวิจัยระบุว่า ผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติ 5-14 เท่า และเมื่อป่วยแล้วมักมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปที่ไม่สูบเลยอย่างชัดเจน ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ นักสูบที่สูบจนเกิดโรคเรื้อรังแล้ว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด ระบบภูมิคุ้มกันจะมีลดต่ำกว่าคนปกติ ทำให้เชื้อโควิด-19 สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่ายและเกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์ สุทัศน์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ให้แก่คนรอบข้างได้มากกว่าบุหรี่มวน คือ

1.ปริมาณของฝอยละอองที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้า (aerosol) และล่องลอยออกไปในอากาศมีมากกว่าบุหรี่มวน ซึ่งฝอยละอองนี้จะพาเอาเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมกันและแพร่กระจายไปด้วยกระแสลมได้เป็นอย่างดี

2.ผู้สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมสูบกันเป็นกลุ่ม พูดคุยกันหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทำให้แพร่กระจายเชื้อโควิดให้แก่กันได้ง่ายมาก เช่น กรณีคลัสเตอร์การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้

3.ในสถานบันเทิงจะมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า บางคนอาจแชร์บุหรี่ไฟฟ้าระหว่างกันหรือสูบบุหรี่มวนเดียวกัน พฤติกรรมนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย

โควิด-19 ติดง่าย หายยากมีโอกาสเสียชีวิตสูง หากไม่อยากบั่นทอนสุขภาพของตนเอง ขอเตือนนักสูบทั้งหลายทั้งบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาดโควิด-19 ขอให้เลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หยุดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงและตัวเลขผู้ติดเชื้อของประเทศ หันมาออกกำลังกาย กินอาหารดีมีประโยชน์ นอกจากได้สุขภาพที่ดีแล้วยังห่างไกลจากโควิด-19 อีกด้วย

อย่างไรก็ตามขณะนี้ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็กำลังทำงานกันอย่างหนัก โดยเฉพาะแพทย์ระบบการหายใจ หากประชาชนช่วยกันหยุดพฤติกรรมเสี่ยง ป้องกันเชื้อ จะช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้มาก

ทั้งนี้ ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความน่ากังวลมากกว่าผู้ที่สูบบุหรี่มวน เนื่องจากสารประกอบต่างๆในบุหรี่ไฟฟ้ามีความเป็นพิษสูงกว่า เช่น นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากบุหรี่มวน สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายกว่า มากกว่า และเกิดผลกระทบต่อหลอดเลือดได้มากกว่าแบบเดิม บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณนิโคตินมากกว่าในบุหรี่มวนถึง 10-100 เท่า

นอกจากนี้ สารระเหยในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โพรไพลีนไกลคอล กลีเซอรีน ที่ใช้เป็นตัวทำละลายในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมหนักต่างๆ เช่น น้ำยาล้างหม้อน้ำรถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม โดยทั่วไปจะไม่ใช้สารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะในปอด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงแบบเฉียบพลันได้

ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 หากประชาชนต้องการคำปรึกษาในการเลิกบุหรี่ สามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 โทรฟรีทุกเครือข่าย ซึ่งในอนาคต จะมีพัฒนา Line bot เพื่อให้คำปรึกษา ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลิกบุหรี่เพิ่มอีกช่องทางหนึ่งด้วย

 

ที่มา: TNN Online