‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ กับเป้าหมายท้าทาย “ด้านความยั่งยืน” ที่ต้องเดินต่อ

คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้สัมภาษณ์ ‘ไทยพับลิก้า’ ถึงเรื่องความคืบหน้าด้านความยั่งยืนกับการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป้าหมายที่ยังไม่ถึงฝัน ตลอดจนความท้าทายท่ามกลางกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจ

​นับตั้งแต่ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ ‘เจียไต้จึง’ ก่อตั้งขึ้นในปี 2464 และต่อยอดธุรกิจมาไล่ตั้งแต่โรงงานอาหารสัตว์ แปลงทดสอบสายพันธุ์ผัก โรงเรือนเลี้ยงไก่ จนกลายเป็นโรงงานอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2516 แล้วจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในปี 2519 เรื่องราวนี้คือจุดเริ่มต้นของเครือซีพีที่อยู่คู่ประเทศไทยมาแล้ว 1 ศตวรรษ

​ปัจจุบันเครือซีพี อายุ 102 ปี มีธุรกิจที่หลากหลายครอบคลุม 8 สายธุรกิจหลักใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ครอบคลุมทั้ง 3 มิติของความยั่งยืน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมออกรายงานความยั่งยืนฉบับแรกเมื่อปี 2559 และได้มีการพัฒนาเป้าหมายและจัดทำรายงานความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือซีพีได้จัดทำรายงานความยั่งยืนไปแล้ว 7 ฉบับโดยในปีนี้ได้จัดทำรายงานภายใต้แนวคิด เพื่อพรุ่งนี้ ที่ดีกว่า(Making Today a Better Tomorrow)

“คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี พูดเสมอว่า ความยั่งยืนต้องผนวกให้เป็นเนื้อเดียวกันกับการทำธุรกิจ เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าจะลงทุนหรือทำอะไร ความยั่งยืนต้องมา ธุรกิจต้องมาด้วย เป็นความยากส่วนหนึ่ง”

15 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573

นายสมเจตนา กล่าวว่า รายงานเครือซีพี ได้มุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ การบริหารจัดการ เป้าหมายและผลการดำเนินงาน เพื่อก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืนของเครือฯ ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเครือซีพีได้กำหนดและเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 2573 รวมทั้งสิ้น 15 หัวข้อ ภายใต้ 3 เสาหลักคือ Heart – Health – ​ Home ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา
ที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ได้แก่

  • Heart (Living Right) ประกอบด้วย (1) การกำกับดูแลกิจการ (2) สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน (3) การศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำ (4) การพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล และ(5) ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล
  • Health (Living Well) ประกอบด้วย (1) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (2) คุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (3) ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงโภชนาการ (4) การบริหารจัดการนวัตกรรม และ (5) ความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย
  • Home (Living Together) ประกอบด้วย (1) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (3) การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ (4) การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และ (5) การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ

 

คุณสมเจตนา กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนเครือฯ สู่ปี 2573 นั้นเครือซีพีได้มีการปรับเพิ่มหัวข้อ เข้ามาตามประเด็นปัญหาของโลกที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีหลายประเด็นที่ทำแล้วบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะประเด็นในหมวด Heart และ Health อีกทั้งเรื่องบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่-ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ก็สามารถทำได้เกือบ 100% แล้ว

“การขับเคลื่อนเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือซีพี ได้ยกระดับการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 เป้าหมายหลักที่มีความท้าทายสูง คือ 1.การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Scope 1 และ 2) ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 2.การลดขยะของเสียที่ส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 พร้อมสร้างนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 3.การดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือที่เรียกว่า Inclusive Business ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสของการเข้าถึง ผ่านการพัฒนาระบบการศึกษาให้ทุกคน สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม”

​จากเป้าหมายสู่การปฏิบัติ นำไปสู่การยอมรับระดับโลก ในปี 2565 เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนของ S & P Global ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 3 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates โดยได้รับคะแนนสูงสุดในมิติด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับการประเมินด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก CDP อยู่ในระดับ A-

​นายสมเจตนา กล่าวว่า เครือฯ ดำเนินธุรกิจบนความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของกฎระเบียบ และมาตรฐานที่ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องมีการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อปรับตัวให้ทันกับความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

TNFD รายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

​ตัวอย่างการปรับตัวที่ชัดเจนคือ การจัดทำรายงานความหลากหลายทางชีวภาพเพิ่มเติมตามแนวทางของ TNFD(Taskforce on Nature-related Financial Disclosure) ซึ่งรายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดำเนินงาน ความเสี่ยง และโอกาสของเครือฯ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยที่เครือฯ ได้นำปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไปใช้ในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน

​จากข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาระบบนิเวศและความหลากหลายทางธรรมชาติ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของเครือฯ ยกตัวอย่างผลกระทบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องดินและการควบคุมการพังทลายของดิน การป้องกันน้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ การฟื้นฟูทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฤดูกาล ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่กระทบต่อธุรกิจหลักของเครือฯ โดยตรง

​ในขณะที่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฤดูกาล หรือที่เรียกว่า Climate Change ก็เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายของเครือฯ เพราะหากไม่สามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือในระยะยาวไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ ก็จะส่งผลต่อการเติบโตและพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน

​“ปัจจุบัน เครือซีพี ได้รายงานและเปิดเผยผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้ง scope 1, 2 และ 3 ผ่านทางรายงานความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2559 เครือฯ ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงานให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การดำเนินงานภายในองค์กรเท่านั้น แต่จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับกลุ่มคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อมกับเราด้วย ทุกวันนี้เราได้ขยายขอบเขตการเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัตถุดิบและสินค้า ซึ่งทำให้ทราบว่า แหล่งที่มาของวัตถุดิบและสินค้าที่ขายให้เรามี Carbon Footprint เท่าไร”

Double and Dynamic มุมมองความยั่งยืนจากภายนอก

​สืบเนื่องจากรายงาน TNFD นายสมเจตนา กล่าวต่อว่า เครือฯ เป็น 1 ในกว่า 200 องค์กรสมาชิกของ World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งทำให้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่ชื่อ “Double and Dynamic Materiality” โดยที่นำผลกระทบด้านความยั่งยืนไปผนวกรวมกับกลยุทธ์องค์กร โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปในลักษณะ Double Materiality คือ การที่เครือฯ ทำการประเมินผลกระทบภายนอกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และผลกระทบภายในที่มีต่อมูลค่าองค์กร การมองอย่างรอบด้านนี้ ทำให้เครือฯ รู้จักบทบาทและความรับผิดชอบของเครือฯ ในการจัดการกับข้อกังวลด้านความยั่งยืนได้อย่างรอบคอบ โดยการตรวจสอบผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการดำเนินงานของเครือฯ ห่วงโซ่อุปทาน และผลิตภัณฑ์/บริการของเราที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มมุมมองเรื่องการเงิน (Financial) เข้าไป ต้องบอกในรายงานให้ได้ว่าผลกระทบด้านตัวเงิน เป็นเท่าไร”

​“ฝั่งยุโรปผู้กำหนดมาตรฐานมองว่า ประเด็นนี้ต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น และบอกว่าวิธีเดิมที่ผ่านมา ไม่ได้สะท้อนความจริงที่ว่า เรื่องนี้สำคัญและมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลประกอบการและอนาคตขององค์กร”

​ส่วนคำว่า Dynamic คือ การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มอนาคต 3 – 5 ปี ว่ามีประเด็นความเสี่ยงเหล่านั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร โดยองค์กรจะต้องจัดลำดับความสำคัญเนื่องจากบางประเด็นที่มีผลกระทบในระดับต่ำ ณ ปัจจุบัน อาจจะมีผลกระทบในระดับสูง ในอนาคตได้ โดยที่การประเมินแบบ Dynamic นี้คือแนวทางประเมินที่ตระหนักว่าปัญหา ESG และข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสียแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประเด็น เช่น กฎหมาย หรือกลยุทธ์ของบริษัท เป็นต้น

​โดยประเด็นที่ถูกจัดลำดับว่ามีนัยสำคัญ (Significant Importance) ที่ใส่ไว้ในยุทธศาสตร์เครือซีพี มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) เช่น การสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี การศึกษาที่มีคุณภาพการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตและการบริโภคอย่างรับผิดชอบ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความยั่งยืนระดับโลก เป็นต้น

ก้าวแรกที่ท้าทายสู่ Net Zero

​ในปี 2565 เครือซีพีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 73.35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยแบ่งเป็น Scope 1และ 2 กว่า 6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ Scope 3กว่า 67 ล้านคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

​“การจะนำองค์กรไปสู่ Net Zero เครือซีพี ทำคนเดียวไม่ได้ต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเราปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ 2 เพียง 8% ซึ่งส่วนที่เหลือใน Value Chain ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำอีก 92% อยู่กับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ”

​เครือซีพี จึงได้ดำเนินการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 อยู่ที่ 42 % และ Scope 3 อยู่ที่ 25 % ภายในปี 2573 จากปีฐาน 2564

นายสมเจตนา กล่าวว่า เป้าหมายที่ ‘ท้าทาย’ อย่างมากก็คือ Scope 3 หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหมด นับตั้งแต่กระบวนการผลิต การขนส่ง และการบริการ โดยมีเป้าหมายว่า เครือฯ จะส่งเสริมและสนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 25% ภายในปี 2573

ส่วนเป้าหมายระยะยาวที่กำหนดภายในปี 2593 แบ่งเป็น (1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% สำหรับ Scope 1 และ 2และ (2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 90% สำหรับ Scope 3

เครือซีพีได้ทุ่มเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2562-2565 เครือฯ ได้ลงทุนไปกว่า 4,822 ล้านบาท ใน 3 ด้านหลัก คือ 1. การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน2. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ 3. การจัดการของเสีย

​ปัจจุบันเครือซีพีมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15 % เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งหมด โดยดำเนินการผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น การใช้เศษไม้สับ แกลบ กะลาปาล์ม และซังข้าวโพด เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 64 % ของพลังงานทดแทนทั้งหมด การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสุกรและน้ำเสียเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 13 % การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 11 % และการสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดจากการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คิดเป็นสัดส่วน 12% ตามลำดับ

​นายสมเจตนา กล่าวเสริมว่า หลังจากที่เครือซีพี ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในหลายพื้นที่ ทำให้จัดตั้งบริษัท อัลเตอร์วิม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ในเครือฯ ที่ทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดเพื่อมาดูแลด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะและเราพยายามมองทั้งความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

​ด้านการปลูกต้นไม้และฟื้นฟูพื้นที่ป่า เครือซีพีมีเป้าหมายว่าภายในปี 2568 จะต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ 20 ล้านต้นใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก

เป้าหมายที่ท้าทาย Waste : ลดขยะของเสียส่งไปหลุมฝังกลบเป็นศูนย์ในปี 2573

​อีกประเด็นที่ท้าทายของเครือซีพี ในการดำเนินงานลดขยะของเสียที่ส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573 ด้วยการสร้างกลไกและแนวทางตามกรอบระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในปี 2565 เครือฯ มีความคืบหน้าในการลดปริมาณขยะอาหารและปริมาณของเสียที่ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีการส่งไปกำจัดที่หลุมฝังกลบ ซึ่งยังทำได้ในระดับต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้

​เครือซีพี มองว่า การแก้ไขปัญหาขยะของเสียที่เกิดขึ้น เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตัวอย่างเช่น การบริจาคผักและผลไม้ให้กับกรมอุทยานฯ การส่งมอบอาหารส่วนเกินให้แก่กลุ่มผู้เปราะบาง และการรวบรวมพลาสติกที่ผ่านการใช้งานเพื่อนำกลับไปรีไซเคิล เป็นต้น

“เครือซีพี มีหลายกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่การผลิตอาหาร การค้าปลีกและจัดจำหน่าย รวมถึงธุรกิจการสื่อสาร ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจมีขยะของเสียที่แตกต่างกัน เครือซีพีต้องมีแผนการทำให้ขยะของเสียที่เกิดขึ้นไปหลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเป้า Circular Economy ที่ท้าทาย เราต้องลดให้ได้”

​แม้ปริมาณของเสียในแต่ละปีจะลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2562อยู่ที่ 1.6 แสนตันต่อปี ปี 2563 อยู่ที่ 1.2 แสนตันต่อปี ปี 2564 อยู่ที่ 1.05 แสนตันต่อปี แต่ในปี 2565 เครือซีพี ก็ยังคงมีของขยะของเสียในระดับสูงถึง 1.1 แสนตันต่อปี และในจำนวนนี้มีขยะของเสีย 11% ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้

เป้าหมายที่ท้าทาย ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : ส่งเสริมการศึกษาทุกมิติ

​นายสมเจตนากล่าวต่อว่า “ตามคำกล่าวของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มองว่า ความเหลื่อมล้ำ เป็นหนึ่งในความท้าทายของประเทศไทย ดังนั้นในฐานะภาคเอกชน จึงต้องมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เครือซีพี มองว่าหากไม่ลงมือแก้ไข ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพคน ซึ่งเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

​โดยเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่สำคัญคือ เรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ยังรวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเครือฯ อีกกว่า 440,000 คน และพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่อีก 2,064 คน

​ในปี 2565 เครือซีพี มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การทำให้เยาวชน-ผู้ใหญ่ เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพรวมกว่า 44ล้านคน จากเป้าหมายที่ 50 ล้านคน รวมถึงเยาวชน-ผู้ใหญ่ ได้รับการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ประมาณ 1.26 ล้านคน พร้อมกับมอบทุนการศึกษา รวมแล้วกว่า 1.4 แสนคน

​ในโลกปัจจุบันฯ ที่เต็มไปด้วยปัจจัยความผันผวน และปัญหาต่างๆ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เผชิญกับความท้าทาย นับตั้งแต่ ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งเครือซีพีได้ปรับตัวและยึดมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤติต่างๆ รวมถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา ไทยพับลิก้า