มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมอนุรักษ์รักษาระบบนิเวศ “ควายน้ำ” ทะเลน้อย มรดกโลกทางการเกษตร จ.พัทลุง

มูลนิธิฯ พาไปทำความรู้จัก “ควายน้ำ” สัตว์ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางการเกษตร

“ควายน้ำ” เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของของทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นทะเลแบบลากูนทำหน้าที่ในการเชื่อมลุ่มน้ำปากพนังเเละลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเข้าด้วยกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งเดียวของไทย โดยในพื้นที่นี้มีภูมิปัญญาที่สืบทอดมากว่า 200 ปี คือ “วิถีการเลี้ยงควายปลัก” ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีระบบการเลี้ยงแบบปล่อยให้ควายหากินอย่างอิสระในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ถือเป็นการทำหน้าที่ในระบบนิเวศ ทั้งการสร้างทางน้ำ ระบบนิเวศทุ่งหญ้า ควบคุมปริมาณพืชน้ำ และช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์เพื่อเร่งการฟื้นตัวของป่าพรุ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเก็บน้ำและแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ “ควายน้ำ” ยังได้ขึ้นทะเบียนว่าเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” อีกด้วย

เสียงสะท้อนจาก “เกษตรกรกลุ่มควายน้ำทะเลน้อย”

คุณพรประเสริฐ เกื้อคราม รองประธานเกษตรกรกลุ่มควายน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง เล่าให้ฟังว่า
“…ทำอาชีพเลี้ยงควายมา 14 ปี แล้ว ซึ่งแต่เดิมในพื้นที่นี้มีการทำเกษตรกรรม เป็นทุ่งนา ควายส่วนใหญ่ก็เลี้ยงเพื่อทำการเกษตร แต่เมื่อสภาพพื้นที่เปลี่ยนไป ทำให้ชุมชนไม่สามารถทำการเกษตรได้ และเปลี่ยนวิถีอาชีพเป็นการเลี้ยงควายปกติ สำหรับควายก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ทุ่งแหลมดิน พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย หาอาหารในบริเวณชุ่มน้ำ เมื่อน้ำขึ้น ควายจึงต้องดำลงไปเพื่อกินหญ้า จึงกลายเป็น “ควายน้ำ” ในปัจจุบัน ส่วนปัญหาของ “ควายน้ำ” จะมี 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องสภาพพื้นที่ในการเลี้ยงมีจำนวนลดลง เนื่องจากคลื่นกัดเซาะทำให้พื้นที่ดินหายไปจำนวนมาก และปัญหาเรื่องวัชพืชอย่าง “จอกแหนหูหนูยักษ์” ที่ขึ้นมาบดบังพื้นหญ้าทำให้แสงอาทิตย์ลงมาไม่ถึงและตายในที่สุด ซึ่งหญ้าถือเป็นแหล่งอาหารหลักของควายน้ำ จึงมีแหล่งอาหารน้อยลง นอกจากนี้ สาเหตุที่ควายน้ำเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากการจมน้ำจากปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ “น้ำขึ้น” อย่างรวดเร็ว

“…ปัญหาที่สำคัญที่ต้องรีบแก้ไข คือ เรื่องวัชพืช ที่ส่งผลต่อแหล่งอาหารของควายน้ำ บางช่วงต้องไปขนหญ้าจากพื้นที่อื่นมา ซึ่งก็มีต้นทุนการขนส่ง และปัญหาใหญ่ที่พยายามผลักดันให้หลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ คือเรื่องคลื่นกัดเซาะพื้นที่เลี้ยงควายน้ำ ซึ่งมีความเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่ตรงนี้จะถูกกัดเซาะจนหมด เชื่อมทะเลทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้ไม่มีพื้นที่เลี้ยงควายน้ำอีกต่อไป ในอนาคตก็คาดหวังว่า “ควายน้ำ” จะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนได้…”

ปี 2566 นี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จับมือหน่วยงานทุกภาคส่วน แก้ปัญหาความเป็นอยู่ของ “ควายน้ำ”

คุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เล่าว่า มูลนิธิฯ เห็นปัญหาเรื่องควายน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เนื่องจากในปี 2566 นี้ เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนผ่านโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริพล.เอก เปรม ติณสูลานนท์ แผนพัฒนา “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 แผนงานในการปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน และการอนุรักษ์สัตว์ในทะเล โดยเตรียมเข้าไปร่วมสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหา “ควายน้ำ” ร่วมกับคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยนำร่องต่อยอดงานวิจัยในการนำ “จอกแหนหูหนูยักษ์” ที่เป็นปัญหาในพื้นที่มาศึกษาการใช้ประโยชน์นำมาทำ “ปุ๋ยหมักจากจอกแหนหูหนูยักษ์” และนำองค์ความรู้ขยายสู่กลุ่มเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ ภายใต้สำนักงานเกษตร อ.ควนขนุน โดยริเริ่มในพื้นที่ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ข้าวพนางตุง, กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ข้าวทะเลน้อย และกลุ่มข้าวสังข์หยด บ้านท่าช้าง ในการนำจอกแหนมาทำปุ๋ยหมัก ที่นอกจากสามารถแก้ปัญแหล่งอาหารของควายน้ำแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการทำเกษตรกรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ยังขยายผลช่วยส่งเสริมกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง ในการสร้างอาชีพเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน