โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ ตอนที่ 3 : ครูลูกปลิว กับ 14 กิโลเมตรแห่งชีวิต #คลังภาพซีพี 100 ปี


ความเดิมตอนที่แล้ว ‘ครูลูกปลิว จันทร์พุดซา’ เล่าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับจากโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 โรงเรียนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์สร้างขึ้นเพื่อให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้เรียนหนังสือ
ที่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครูลูกปลิวได้เดินตามฝันในการเรียนศิลปะ กระทั่งสอบเข้าคณะจิตร     กรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สำเร็จ
.
“ตอนเรียนคณะจิตรกรรมฯ เราเลือกวิชาเอกประติมากรรมแบบไม่ลังเล เพราะรู้สึกว่างาน 3 มิติให้พลังตัวเองมากกว่างาน 2 มิติ อีกเหตุผลคืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร) ก็เป็นประติมากร และสำคัญที่สุดคือเราเติบโตที่โคราช ได้กราบอนุสาวรีย์แม่ย่าโม (อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ผลงานปั้นของ อ.ศิลป์ พีระศรี) ตั้งแต่เด็ก แล้วตอนเรียนคณะจิตรกรรมได้เข้าไปหอประติมากรรม เห็นรูปปั้นย่าโมต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ปั้นไว้แบบใกล้ๆ ด้วยองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ทำให้ไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนปั้นเลย”
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เธอตั้งใจเรียนต่อปริญญาโทที่คณะจิตรกรรมฯ แต่ภาควิชาประติมากรรมมีหลักเกณฑ์ว่าต้องหยุดพัก 1 ปีเพื่อทบทวนแนวทางการศึกษาที่ผ่านมา เพราะการทำงานประติมากรรมต้องใช้พลังกายและใจค่อนข้างเยอะ การได้หยุดพักอาจทำให้มีความคิดใหม่ๆ ในการทำงาน ในช่วงนั้นเธอจึงทำงานส่งประกวดและได้รางวัลบ้าง เช่น รางวัลที่ 3 ประเภทประติมากรรม การประกวดศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด ครั้งที่ 1 และทุนสร้างสรรค์ศิลปะ มูลนิธิ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ฯลฯ
.
“เราเรียนจบปริญญาโทปี 2551 พอเรียนจบวันนี้ รุ่งขึ้นก็ไปเป็นครูที่ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเลย ยังจำภาพในวันนั้นได้ว่า ครั้งแรกที่เด็กยกมือไหว้ก็ตกใจ นี่เราเปลี่ยนสถานะแล้วหรือ เมื่อวานยังเป็นนักศึกษาอยู่เลย ด.ญ.ลูกปลิว ที่ใส่เสื้อผ้าขาดๆ เดินไปเรียนหนังสือ วันนี้เป็นครูแล้วจริงๆ หรือเนี่ย (ยิ้ม)”
.
หลังจากสอนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ 4 ปี ครูลูกปลิว สอบเป็นอาจารย์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปี 2555 โดยช่วงแรกแบ่งเวลาไปเรียนภาษาอิตาลีที่จุฬาฯ สัปดาห์ละ 2 วัน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อสอบชิงทุนรัฐบาลอิตาลี ซึ่งจริงๆ เธอไม่รู้ว่าจะสอบติดหรือไม่ เธอแค่อยากให้โอกาสตัวเอง แต่ในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ ได้ไปเรียนสาขาวิชาสลักหินที่ Accademia di belle arti di Firenze เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถาบันที่อาจารย์ศิลป์เคยเรียนด้วย  ซึ่งหลังจากเรียนจบก็กลับมาเป็นครูที่คณะจิตรกรรมฯ จนถึงปัจจุบัน
.
“ประมาณ 4 ปีก่อน เรากลับไปงานกิจกรรมของโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 ได้เจอคุณหญิงเอื้อปรานี เจียรวนนท์ ที่มาแจกของให้เด็กๆ เหมือนหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจึงเข้าไปแนะนำตัวว่าเป็นศิษย์เก่า และวันนี้ทำงานเป็นครูที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านฟังพร้อมยิ้มกว้างแล้วเข้ามากอด (ยิ้ม) คุณหญิงเอื้อปรานีคงดีใจที่นักเรียนจากที่นี่ไปได้ไกลจนสุดความฝันขนาดนี้”
.
“อีกความประทับใจคือมีวันหนึ่งครูศิลปะที่โรงเรียนตามหาเฟซบุ๊กเราจนเจอ ท่านเขียนข้อความว่า ครูไม่อยากเชื่อเลยว่าลูกศิษย์ของครูจะเติบโตได้ถึงขนาดนี้ จากความฝันเล็กๆ ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ครูเรียกเข้ามาวาดรูปในห้อง เด็กที่ชุดนักเรียนทั้งเก่าและบาง ต้องใส่เสื้อซับไว้ข้างใน ในกระโปรงก็สวมกางเกงวอร์มแล้วพับขาไว้ข้างใน แต่ในวันนี้เด็กคนนั้นได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสอนศิลปะอันดับหนึ่งของประเทศ… ทุกอย่างมันเกินฝันจริงๆ ถ้าไม่มีโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 ชีวิตก็คงไม่มาถึงวันนี้ (ยิ้มกว้าง)”
.
“หากย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ เราเป็นลูกชาวไร่ชาวนา คนข้างนอกอาจคิดว่าชีวิตคงลำบากตรากตรำ แต่สำหรับเรา สมัยเด็กเต็มไปด้วยความสุข ถึงแม้โรงเรียนจะอยู่ไกลบ้าน ขาไปต้องเดิน 7 กิโลเมตร ขากลับอีก 7 กิโลเมตร แต่เราตื่นเต้นทุกวันที่จะได้เจอเพื่อนและครู” ครูลูกปลิวเล่าด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้มและแววตาแห่งความภาคภูมิใจ
.
สิ่งที่โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศมอบให้คือ โอกาส เป็นแสงสว่างที่ทำให้เด็กที่มีความฝัน เพราะถ้าไม่มีพื้นฐานทางการศึกษา เธออาจไปไม่ได้ ไปต่อ “ทุกวันนี้ยังฝันถึงเส้นทางไปกลับโรงเรียน 14 กิโลเมตรนั้นอยู่ตลอด เป็นความทรงจำที่งดงาม และจะไม่มีวันลืมอย่างแน่นอน (ยิ้ม)”
.

ร่วมเป็นสมาชิก Facebook Group: คลังภาพซีพี 100 ปี เพื่อติดตามอ่านเรื่องราวทั้งจากนักเขียนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ภาพหาดูยาก และเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.facebook.com/groups/cpgallery
.
.