ปิดฉากวันแรกของการประชุมวิชาการ CP Symposium 2022 เต็มอิ่มกับสาระความรู้จาก Panelists เสริมมุมมองเทรนด์ของวิทยาชีวภาพด้านอาหารและการเกษตรในอนาคต

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมวิชาการ “เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2022” หรือ CP Symposium 2022 ของวันแรก ( 9 พฤศจิกายน 2565) มีการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ ในหัวข้อ 2030 : Future of Life Science in Food & Agriculture โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ธีรพงศ์ ยะทา อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณณภัทร ตัณฑิกุล ที่ปรึกษาอิสระ ด้านโปรตีนทางเลือก มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการ เพื่อจุดประกายความคิดสร้างแรงบันดาลใจและเสริมมุมมองเทรนด์ของวิทยาชีวภาพด้านอาหารและการเกษตรในอนาคต โดยมี ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร อาจารย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์​ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.วิรัลดา ภูตะคาม ได้ร่วมถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ ของเทรนด์วิชาการด้านพันธุศาสตร์ในอนาคต การวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในระดับจีโนม (แบบพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต) ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของยีน และโปรตีนในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตของพืชเศรษฐกิจ และสัตว์เศรษฐกิจ

ด้าน ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ กล่าวถึงประสบการณ์ในกระแสโลกและองค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร หรือ จุลชีพในลำไส้ (Gut Microbiome) ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจระดับโลก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ บุคลากรและองค์กรทั้งในภาคการศึกษาทางการแพทย์ ผู้ชำนาญการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ รวมถึงภาคเอกชน เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารเสริม และเครื่องดื่ม เป็นต้น

ในขณะที่ คุณณภัทร ตัณฑิกุล  ได้ฉายภาพให้เห็นถึงกระแสของโปรตีนทางเลือกได้รับความสนใจมากขึ้น ด้วยเหตุผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น มีความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความตื่นตัวด้านความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาหารภายใต้การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก

ส่วน ร.ธีรพงศ์ ยะทา ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Gene Therapy หรือ พันธุกรรมบำบัด คือ การรักษามะเร็งที่มุ่งเน้นไปยังต้นเหตุของมะเร็ง คือ ยีนที่มีความผิดปกติ โดยจะต้องวิเคราะห์หาความผิดปกติในเซลล์มะเร็งก่อนแล้วให้การรักษาด้วยยาที่มีความจำเพาะต่อยีนที่มีความผิดปกตินั้นๆ ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.ธีรพงศ์ มีผลงานโดนเด่นด้านระบบนำส่งนาโนในการส่งวัคซีนสมุนไพรในสัตว์เศรษฐกิจ โดยได้วิจัยร่วมกับกลุ่มธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ และพัฒนาวัคซีนสำหรับปลาเศรษฐกิจที่อาศัยระบบตัวพานาโนเทคโนโลยี ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถให้วัคซีนปลาแบบแช่ได้ ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ประหยัดเงินและเวลา ทำได้กับปลาทีละจำนวนมาก ๆ และไม่ทำให้ปลาบาดเจ็บหรือบอบช้ำ โดยนาโนวัคซีนดังกล่าวพัฒนาจนสามารถทดแทนการให้วัคซีนแบบดั้งเดิมที่ต้องฉีดปลาทีละตัวได้ โดยให้ผลในการป้องกันโรค ลดความเสียหายที่เกิดจากการติดเชื้อในปลาเศรษฐกิจสำคัญของไทย เช่น ปลานิล อีกด้วย

เพื่อน ๆ ชาวซีพี ที่สนใจเข้าร่วมฟัง นำเสนอผลงานวิชาการของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของเครือซีพีรวม 156 โครงการจากบริษัทในเครือซีพีกว่า 6 ประเทศทั่วโลก ใน 4 ด้านหลัก สามารถลงทะเบียนเข้าฟัง  ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. 2565 ได้ตลอดทั้งวัน ผ่านระบบออนไลน์ทาง https://www.cpinno.net/th/symposium และ CP Connect