ซีพี ออลล์สนับสนุนแหล่งเพาะกล้าไม้ จากชุมชนสู่ชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย พร้อมลุยปลูกป่าอีกกว่า 1.6 แสนต้นปีนี้   

คุณตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการ สานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า “โครงการปลูกป่า ซีพี ออลล์ ประจำปี 2565” โดยร่วมประชุมกับกลุ่มภาคีต้นน้ำโครงการปลูกป่าภายใต้การขับเคลื่อนของ บมจ.ซีพี ออลล์ โดยมีผศ.ดร.วิรัช  อนุชานุรักษ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตสุรินทร์ นายสำเริง เลื่องลือ ผู้นำกลุ่มเกษตรกรชุมชนโนนนารายณ์ และครูจิตติวรรณ จิตตไธสง ผู้แทนจากโรงเรียนมหิธรวิทยา พร้อมด้วยพระครูปลัดวรเมศร์ สติสมฺปนฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าบวรสังฆาราม วัดต้นแบบโครงการป่าล้อมวัด ให้โอวาท แนวคิด กำลังใจแก่คณะทำงาน ณ ห้องประชุมผกาอำปึล อาคารอทิตยาทร คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

โครงการปลูกป่า ซีพี ออลล์ นั้น เน้นให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโครงการผ่านกระบวนการจัดการแบบห่วงโซ่คุณค่า (Supply chain values) ตามหลัก 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เน้นสร้างอาชีพ สร้างการหมุนเวียนรายได้ สร้างองค์ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทั้งกับเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียวจากคนภายในชุมชนเพื่อชุมชนของตนเอง โดย ซีพี ออลล์ ได้ให้การสนับสนุนตั้งแต่กระบวนการ “ต้นน้ำ” หรือแหล่งเพาะกล้าไม้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์ โรงเรือนอนุบาลกล้าไม้ งบเพาะกล้าไม้ดูแลรักษา ซึ่งมีทั้งชุมชนโนนนารายณ์ และมทร.สุรินทร์ ร่วมเป็นแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อน รวมกว่า 70,000 ต้น โดยเฉพาะโรงเรียนมหิธรวิทยา ในโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ภายใต้การดูแลจาก ซีพี ออลล์ ร่วมนำร่องพัฒนาโครงการ “โรงเรียนป่าไม้” ที่มุ่งเน้นบูรณาการองค์ความรู้กระบวนการปลูกต้นไม้สู่ 8 กลุ่มสาระวิชาตามหลักสูตรแกนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ ผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) โดยใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ (PBL= Problem Based Learning) เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้การเพาะ อนุบาล ปลูก ดูแลรักษา รณรงค์รักต้นไม้ออกไปสู่ชุมชน สังคมในวงกว้าง โดยไม่เสียชั่วโมงเรียน และสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้อีกด้วย ทั้งนี้กล้าไม้จาก 3 แหล่ง จะถูกส่งไปปลูกที่บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ผ่านโครงการป่าล้อมวัด, โคก หนอง นา และการส่งเสริมพนักงานปลูก (We Grow for ALL) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตามแผนงาน ด้วยปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”