ขนมรสลาบ โอกาสผู้ส่งออกไทยปี 2566 : อินเดียส่งออก iPhone ทะลุ 2.5 พันล้านดอลลาร์ : “ไต้หวัน” ผ่านกฎหมายลดภาษีผลิตชิป หวังคงอันดับผู้นำเทคโนโลยี

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เทคโนโลยี

ขนมรสลาบ-ต้มยำ ชาวอเมริกันชอบ โอกาสผู้ส่งออกไทยปี 2566

  • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่าในช่วง 10 เดือนปี 2565 ยอดขายของขนมขบเคี้ยวในสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 44,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.4% มาแรงแซงยอดขายอาหารและเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ โดยพบว่า รสชาติขนมที่เป็นเอกลักษณ์ไทย เช่น รสลาบ และรสต้มยำ ซึ่งมีเอกลักษณ์ในด้านความเผ็ดและความแปลกใหม่ เป็นรสชาติที่ชาวอเมริกันอยากที่จะลิ้มลองเป็นอันดับ 6 รองจากรสชาติขนมแบบเม็กซิกัน อิตาเลียน จีน ญี่ปุ่น และละติน (ประชาชาติธุรกิจ)

อินเดีย

อินเดียส่งออก iPhone ทะลุ 2.5 พันล้านดอลลาร์ หลัง Apple เริ่มกระจายฐานการผลิตออกจากจีน

  • Apple Inc. ส่งออก iPhone คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ จากฐานการผลิตในอินเดียระหว่างเม.ย. ถึง ธ.ค. 2022 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีก่อนหน้า สะท้อนการกระจายฐานการผลิต หลังจากที่ Foxconn ในเจิ้งโจว ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตหลักให้กับ Apple ต้องเผชิญกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานจนต้องปรับลดเป้าหมายการผลิต
  • ขณะที่รัฐบาลอินเดียได้ออกนโยบายผลักดันอินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดย Foxconn ได้รับสิทธิประโยชน์ คิดเป็นมูลค่า 3.6 พันล้านรูปี หรือราว 44 ล้านดอลลาร์ (The Standard)

ไต้หวัน

“ไต้หวัน” ผ่านกฎหมายลดภาษีผลิตชิป หวังคงอันดับผู้นำเทคโนโลยี

  • รัฐสภาไต้หวัน ผ่านกฎหมายใหม่ที่จะอนุญาตให้บริษัทชิปขอเครดิตภาษีในอัตราส่วน 25% ของรายจ่ายด้านการวิจัยและการพัฒนารายปี ภายใต้ความพยายามในการรักษาเทคโนโลยีชิปเซมิดอนดักเตอร์ขั้นสูงเอาไว้และรักษาสถานะความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของไต้หวัน
  • กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ โดยบริษัทชิปในไต้หวันยังสามารถขอเครดิตภาษี 5% ของต้นทุนการซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้กับเทคโนโลยีที่มีกระบวนการขั้นสูง โดยการขอเครดิตภาษีทั้งหมดต้องไม่เกิน 50% ของภาษีเงินได้รายปีทั้งหมดของบริษัท (กรุงเทพธุรกิจ)