มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เครือซีพี – ซีพีเอฟ ผนึกกำลัง หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนแก่โรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกลต่อเนื่อง


มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ เจซีซี ร่วมส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ประจำปี 2565 ณ โรงเรียนบ้านนางแลใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้รับเกียรติจาก คุณสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธี โดยมี คุณโนริอากิ ยามาชิตะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ และประธานส่วนการศึกษาคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม คุณสมคิด วรรณลุกขี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมมอบโครงการ ร่วมด้วย หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย ครู นักเรียน และผู้แทนโรงเรียนจากทั่วประเทศ

คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือซีพี และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางนักเรียนอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 35 มุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่สดคุณภาพดีที่นักเรียนช่วยกันดูแล เพื่อเสริมสร้างโภชนาการที่ดี เติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา เป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู นักเรียนได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ที่ประยุกต์ใช้กับอาชีพในอนาคต ขณะเดียวกัน สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชนให้มีรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผลเกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)” พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ โดยซีพีเอฟใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเลี้ยงไก่ไข่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คุณครูและนักเรียน พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลสุขภาพสัตว์และการป้องกันโรค การจัดการโรงเรือนตามหลักวิชาการและสุขาภิบาล ทำให้มีประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี รวมถึงการพัฒนาระบบเพื่อติดตามประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่ไข่ของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยการเลี้ยงไก่ตั้งแต่รุ่นที่ 2 เป็นต้นไป โรงเรียนจะได้รับพิจารณาให้สามารถซื้อพันธุ์ไก่ไข่ และอาหารไก่ไข่ในราคาพิเศษ โดยส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมีบริษัทเป็นผู้สนับสนุน

ปัจจุบันมีโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน 930 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 180,000 คน และชุมชน 1,900 ชุมชนได้รับประโยชน์ คุณครูและบุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้จากโครงการฯ กว่า 1,000 คน ดำเนินงานใน 75 จังหวัดทั่วประเทศไทย และนอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากเจซีซี มาตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาด้วย ในปี 2565 นี้ได้รับสนับสนุน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านนางแลใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย โรงเรียนเวียงห้าววิทยา ต.เวียงห้าว อ.พาน จ.เชียงราย โรงเรียนชุมชนบ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย โรงเรียนประชารัฐวิทยาคาร ต.ทุ่งแล้ง อ.ลอง จ.แพร่ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งตะแบก ต.พุทธบาท อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์

ด้าน คุณโนริอากิ ยามาชิตะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่นฯ กล่าวว่า เจซีซีตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการในเด็กวัยเรียน และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 23 เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล ในด้านอาหารและโภชนาการโปรตีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียนในการเติบโตที่ดี มีสุขภาพที่ดี และยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้ธุรกิจจากการทำงานจริง โดยในปีนี้สนับสนุนอีก 5 แห่ง รวมทั้งสิ้นเป็น 142 โรงเรียน มีนักเรียนกว่า 38,000 คน ครอบคลุม 41 จังหวัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 33 ล้านบาท โดยในอนาคตก็ยังคงมีแผนสนับสนุนโครงการดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีน มีไข่ไก่สดบริโภคในชุมชน และเกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน


ส่วน คุณศราวุธ ธนาคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนางแลใน กล่าวว่า โรงเรียนฯ มีนักเรียน 151 คน ครูและบุคลากรรวม 17 คน การเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไข่ไก่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในครั้งนี้ ในนามตัวแทนโรงเรียน รู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เด็กนักเรียนจะได้รับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านอาหาร การฝึกวิชาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ฝึกความรับผิดชอบ ตลอดจนโรงเรียนมีรายได้จากการจำหน่ายไข่ไก่ในชุมชนเพื่อนำมาบริหารจัดการโครงการในรุ่นต่อไป โดยที่ผ่านมาโรงเรียนดำเนินโครงการเกษตรพอเพียง มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว ปลูกข้าว โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จึงเข้ามาเติมเต็มด้านโภชนาการอาหารมื้อกลางวันให้นักเรียนมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญา เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียน มีทักษะอาชีพด้านการเกษตร และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป