CPF จัดเสวนาพิเศษ ภูมิคุ้มกันทางใจ “เครียดได้ คลายเป็น ในยุค Covid-19″

CPF Training Center ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการ COVID-19 จัดเสวนา Special Talk ในหัวข้อ “ภูมิคุ้มกันทางใจ” Episode 2 : เครียดได้ คลายเป็น ในยุค Covid-19 ให้แก่พนักงาน CPF ผ่านระบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ 2 ท่าน ได้แก่ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ก.สาธารณสุข และ คุณเอกลักษณ์ วงศ์อภัย นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ รพ.ศรีธัญญา ร่วมเสวนาในครั้งนี้
โฆษกกรมสุขภาพจิต เล่าว่า ในยุค New Normal ทำให้เราต้องปรับตัว ส่งผลให้เราเกิดความเครียดและไม่มีความสุข เบื่อ เหนื่อย ล้า ด้านคุณเอกลักษณ์ กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก เพื่อให้รอดจากการติดเชื้อโควิด-19 จนทำให้เรามีพฤติกรรมบางอย่างเป็นนิสัย เช่น การล้างมือ การใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง ซึ่งการปรับตัวหรือการใช้ชีวิตต่างไปจากเดิมทำให้ความสุขลดลง แม้กระทั่งการทำงานแบบ Work from Home ที่ไม่ได้เจอเพื่อนร่วมงานอีกด้วย
นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ความเครียดคือสัญญาณจากสมองอย่างหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์ปลอดภัย และจะมีสมองส่วนที่ควบคุมความเครียด ซึ่งจะทำงานเมื่อเราเกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ดังนั้น ความเครียด ความกังวล ความกลัว ความคิดด้านลบ สมองจะสั่งให้เราป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย เช่น ลูกน้องพูดไม่รู้เรื่อง ทำงานกับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ อกหัก ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคนจนเกิดความเครียด แต่ความเครียดจะส่งผลให้เราพัฒนา เช่น หัวหน้าตำหนิ หากเราเปลี่ยนความเครียดให้เป็นการพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงหรือแก้ไขให้ดีขึ้นครั้งหน้าจะได้ไม่โดนตำหนิอีก หรือนักวิทยาศาสตร์พัฒนาสิ่งต่างๆ เช่น รถยนต์เพื่อให้การเดินทางได้สะดวกลดความเครียดจากการเดินทาง ซึ่งเป็นการนำความเครียดมาพัฒนาเป็นผลผลิต
คุณเอกลักษณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเครียดและความกังวล เป็นพี่น้องกัน มันจะส่งผลต่อร่างกาย ความคิด และพฤติกรรมบางอย่าง ดังนั้น เราจะแก้ไขและจะมีวิธีการปลดล็อคความคิดเชิงลบได้อย่างไรเป็นสิ่งสำคัญ
นพ.อภิชาติ ให้เราถามตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร (โอเค หรือ ไม่โอเค ) ถ้าไม่โอเคมันส่งผลกับเราอย่างไร
• ส่งผลต่อร่างกาย คือ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กินมาก นอนมาก น้ำหนักเพิ่ม ปวดหัว ปวดตามร่างกาย เกิดจากสมองหลั่งสารความเครียดทำให้มีร่างกายแสดงกลไกออกมา ถ้าเกิดอาการสั้นและหายไม่เป็นไร แต่ถ้ามีอาการนานและสะสมมาก ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง ปวดไมเกรน ปวดบ่าไหล่
• ส่งผลต่อจิตใจ เริ่มกังวล อารมณ์แปรปรวน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ดี ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกับคนครอบครัว ส่งผลต่อการทำงาน
คุณเอกลักษณ์ บอกว่า ระดับความเครียดสามารถทำแบบทดสอบได้ ว่าอยู่ระดับไหน แบ่ง 2 ส่วน คือ
• เครียดระดับจิตสำนึก คือ เครียดที่เรารู้ตัว เรารู้ว่ากังวลอะไร รู้ตัวเครียด
• เครียดระดับจิตใต้สำนึก คือ เครียดที่เราไม่รู้ตัว กังวลในเรื่องลึกๆ
“สิ่งที่เราควรทำ คือต้องสำรวจสิ่งที่เรารู้ตัวก่อนและจดปัญหาต่างๆ เพื่อจัดการแก้ปัญหา”
นพ.อภิชาติ แนะนำเทคนิคการลดความเครียด ดังนี้
1. จดปัญหา ว่าเราคิดเรื่องเดิมๆ อยู่หรือไม่ และปัญหาอะไรที่ยังไม่ได้แก้ไข จะได้หาคนช่วยแก้ไขเรื่องต่างๆ
2. ต้องไม่ซ้ำเติมตัวเราหรือใช้สารเสพติด เช่น เหล้า กัญชา ยาบ้า ระวังสารเสพติดและสารกระตุ้น หรือ คาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ส่งผลให้เรานอนไม่หลับหรือนอนไม่สนิท ส่งผลปัญหาต่อสุขภาพและสมอง ควรใช้วิจารณญาณในการใช้อาหารเสริมต่างๆ
คุณเอกลักษณ์ ได้พูดถึงความเครียดที่เกิดจาก Work From Home ว่า บ้านเป็นที่พักผ่อนกลายเป็นที่ทำงานด้วย ทำให้ความพักผ่อนจริงๆ ไม่มี เวลางานมาปะปน จากการนั่งทำงานกับเพื่อนๆ เป็นนั่งทำงานคนเดียว ทั้งนี้ บุคลิกภาพของแต่ละคนมีผลต่อความเครียดที่เกิดจาก Work From Home ได้ เช่น บุคลิกภาพแบบ Extrovert ชอบการทำงานแบบแลกเปลี่ยนความคิดกันเพื่อสร้างไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ จะไม่ชอบการทำงานแบบ Work From
Home และบุคลิกภาพแบบ Introvert ชอบทำงานแบบ Work From Home ไม่ต้องเจอคนเยอะ
💡 ทำอย่างไร? ให้ตัวเองมีจิตใจยืดหยุ่น มี Resilience Quotient หรือ RQ
คุณเอกลักษณ์ อธิบายว่า RQ คือ ความยืดหยุ่น เหมือนเราดึงยางและมันเด้งกลับมาสภาพตามเดิม ในส่วนของจิตใจคือสภาพจิตใจที่กลับมาสู่สภาวะปกติที่เราผ่านวิกฤตอะไรบางอย่าง เช่น คนในครอบครัวเสียชีวิตจากโควิด ส่งผลต่อจิตใจอย่างมาก แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว นั่นคือคนที่มี RQ สูง มนุษย์สามารถสร้าง RQ ขึ้นได้ จากองค์ประกอบ 3 สิ่งนี้ ได้แก่ I am, I have, I can
• I am รู้จักตัวเอง เป็นคนอย่างไร มีบุคลิกอย่างไร ใครอยู่รอบๆ ตัวเรา
• I have รู้จักว่าตัวเรามีดีอะไร และเมื่อเจอวิกฤต มีทรัพยากรหรือมีเครื่องมืออะไรที่จะมาใช้ในช่วงวิกฤตบ้าง
• I can รู้ความสามารถของตัวเรา เช่น ในช่วง Work From Home ทำให้เรามีความสามารถใหม่ๆ เช่น ทำอาหาร หรือค้นพบความสามารถใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
💡 หากเครียดเรื่องการรับงานใหม่จะทำอย่างไร?
นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ให้ยอมรับว่าเราเครียด และเมื่อเราเครียดแล้วจะทำอะไรต่อไปกับงานใหม่ที่ได้รับ โดยให้มองเป็นเกมด่านใหม่ที่ยากขึ้น ให้ยอมรับ ปรับตัว และหาทางแก้ไขให้เราสามารถทำงานนั้นได้ดีขึ้น หรือหาคนช่วยเหลือเพื่อให้สามารถทำงานใหม่ได้ มองว่าต้องทำงานให้บริษัท หรือ มองให้เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในชีวิต อย่าคิดลบต่องานใหม่และอย่ามองโลกสวย ให้มองโลกตามความเป็นจริง
☎️ สำหรับช่องทางปรึกษาปรึกษาสุขภาพจิต ได้แก่
• กรมสุขภาพจิต โทร 1323 (24 ชั่วโมง )
• Page กรมสุขภาพจิต
• โรงพยาบาลเอกชน
• Page ตีสิบเดย์
• Page Me Specialists
การสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิต เราสามารถบริหารจัดการและคลายเครียดได้ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และพร้อมทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ
Cr.PR CPF