CPF มุ่งพัฒนาห่วงโซ่การผลิตกุ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเพิ่มใช้พลังงานสะอาด

CPF มุ่งมั่นพัฒนาตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ทั้งในฟาร์มและโรงงาน พร้อมยกเลิกใช้ถ่านหินในไทย ภายในปี 2565 มีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนเป้าหมายสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ในปี 2573
คุณไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจกุ้ง CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบตลอดห่วงโซ่การผลิตกุ้ง ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ฟาร์มกุ้ง โรงงานผลิตอาหารแปรรูป โดยนำพลังงานชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการผลิต ปัจจุบันติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์ในฟาร์มกุ้ง ในไทย 5 แห่ง และปีนี้ มีแผนติดตั้งโซล่าร์เซลล์เพิ่มในโรงเพาะฟักลูกกุ้งอีก 8 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยกเลิกการใช้ถ่านหินในห่วงโซ่การผลิตกุ้งในไทยทั้งหมดภายในปีนี้ ตามเป้าหมาย CPF Coal Free 2022
“CPF ยังเดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มและโรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนใหม่ CPF 2030 Sustainability in Action ภายใต้เสาหลัก “ดิน น้ำ ป่า คงอยู่” คุณไพโรจน์ กล่าว
ปัจจุบัน มีฟาร์มกุ้งของ CPF จำนวน 5 แห่ง ที่ติดตั้งโซล่าร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้กับเครื่องให้อากาศในบ่อกุ้ง และ ไฟแสงสว่างในฟาร์ม มีกำลังการผลิตรวม 3.471 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 1.ฟาร์มกุ้งร้อยเพชร จ.ตราด 2.ฟาร์มบางสระเก้า จ.ระยอง 3. ฟาร์มกุ้งลักกี้ 1 จ.ระยอง 4. ฟาร์มเพชรบุรี 5.ฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้งปะทิว จ.ชุมพร นอกจากนี้ โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านบึง จ.ชลบุรี และโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ จ.สงขลา ได้ยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินและหันมาใช้พลังงานชีวมวลแทน และกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานของโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำมหาชัย จ.สมุทรสาคร และโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำหนองแค จ.สระบุรี หันใช้พลังงานหมุนเวียน และยกเลิกการใช้ถ่านหินภายในปีนี้ ส่งผลให้ภายในปี 2565 ตลอดห่วงโซ่การผลิตกุ้งในไทยไม่มีการใช้พลังงานถ่านหิน
บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อหาแนวทางต่างๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า โดยประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อช่วยควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งการจัดการน้ำ การควบคุมคุณภาพน้ำและอุณหภูมิน้ำในบ่อเลี้ยง ระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating Aquaculture System : RAS) ด้วยการใช้ Ultrafiltration (UF) เพื่อกรองน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกและน้ำที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้สะอาดและปลอดจากเชื้อก่อโรคและระบบไบโอฟลอค (Bio-floc) ใช้จุลินทรีย์ในการบำบัดของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยง ช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำในระหว่างการเลี้ยงกุ้ง ควบคู่ไปกับระบบการเลี้ยงภายใต้หลัก “3 สะอาด” “กุ้งสะอาด น้ำสะอาด และบ่อสะอาด” ช่วยให้กุ้งแข็งแรง โตเร็ว ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารและสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม