ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ถอดบทเรียน CPF สู้โควิด-19

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ทวีความรุนแรง พร้อมกับสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะการระบาดที่แพร่กระจายไปสู่คลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกสำคัญของประเทศ แต่มีอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี

นั่นก็คือ โรงงานแปรรูปไก่เพื่อการส่งออก จ.สระบุรี ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่เกิดการระบาดใหญ่ในหมู่คนงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ผ่านไปเพียง 3 เดือน โรงงานแห่งนี้สามารถฟื้นตัวกลับมาดำเนินการผลิตได้เกือบ 100% นับเป็นโมเดลการต่อสู้กับโควิดที่เข้มข้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” ประธานคณะผู้บริหาร CPF

เจอโควิดใน รง.แปรรูปไก่

CPF เริ่มมาตรการเข้มข้นตั้งแต่ตอนแรกที่เราเจอปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่การรับส่งคนงาน เมื่อเข้ามาถึงโรงงานต้องล้างมือ แบ่งโซนการทำงานและติดจอมอนิเตอร์แบบสนามบิน แต่นี่เป็นระบบเก่า ซึ่งก็ยังต้องเก็บระบบนี้ไว้

ส่วนระบบใหม่ที่ทำตอนนี้ก็คือ เราเพิ่มเรื่องการสุ่มตรวจโควิด-19 โดยใช้ชุดตรวจ test kit ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีชุดตรวจแบบนี้ เราก็ใช้วิธีตรวจสอบด้วยน้ำลายในแล็บของ CP เอง แต่วิธีนี้จะช้าหน่อยเพราะต้องใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง แต่มันมีความแม่นยำสูง

“เรามีห้อง lab ของเราอยู่แล้ว เพราะในการผลิตอาหารต้องตรวจสอบอาหารทุกลอต โดยเราจะเลือกกลุ่มตัวอย่างมาแต่ละครั้ง 10 แพ็ก 20 แพ็ก แล้วก็สุ่มตรวจดูว่า ในกระบวนการผลิตมีความผิดพลาดอะไรหรือไม่ เป็น normal practice เมื่อเกิดโควิด-19 เราก็ใช้ lab เข้ามาช่วย

จนกระทั่งมีชุดตรวจ test kit เข้ามา แม้ว่าชุดตรวจจะสู้วิธีของ lab ไม่ได้ แต่ข้อดีก็คือ มันรู้ผลทันที ทำให้เราสามารถแยกคนที่ป่วยออกจากคนงานทั้งหมดได้ ตอนนี้เราซื้อชุดตรวจมาเตรียมไว้ 30,000 กว่าชิ้นแล้ว”

แน่นอนว่าการตรวจโควิด-19 เราจะตรวจทั้งหมดก็คงไม่ไหว เพราะ CPF มีพนักงานกว่า 70,000 คน ดังนั้น จึงต้องเลือกกลุ่มที่มีความเสี่ยง แล้วดูว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่เสี่ยง ซึ่งตามปกติในโรงงานก็แบ่งโซนเสี่ยงมาก โซนเสี่ยงน้อยอยู่แล้ว โซนที่เสี่ยงมาก หมายถึง โซนที่มีจำนวนคนเยอะ ก็ตรวจโควิดถี่ขึ้น

“แต่ผมขอเล่าย้อนกลับไปหน่อยว่า CPF บริหารจัดการโรงงานเป็นบับเบิลหมดแล้ว ดังนั้น กลุ่มที่เสี่ยงในบับเบิลนี้ เราก็ตรวจเฉพาะวงนี้ แต่มันก็ไม่สามารถจะทำได้ทั้งหมด เพราะจะต้องแบ่งตามพื้นที่ ถ้าเป็นโรงงานอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ความเสี่ยงต่ำก็ยังไม่จำเป็นจะต้องบับเบิล ถ้าส่วนไหนที่มีความเสี่ยงสูง เราก็ทำบับเบิลแล้ว และบริเวณไหนมีความเสี่ยงมากในโรงงาน เราก็ตรวจด้วย antigen test kit”

FI โรงงาน CPF ในโซนสีแดง

เนื่องจากโรงงานของเรามีเป็น 100 โรงงาน ดังนั้น สิ่งที่เราดำเนินการก็คือ จะต้องมีการเตรียมพื้นที่สำรอง เพื่อดูแลรักษาพนักงานในโรงงานให้ได้ก่อน หรือที่เรียกว่า factory isolation (FI) ก่อนที่จะส่งไปรักษาข้างนอก ซึ่งระบบนี้ CPF จะทำที่โรงงานทุกแห่งที่อยู่พื้นที่เสี่ยง เช่น โรงงานไก่ โรงงานหมู โรงงานอาหาร เพราะหากจะเปรียบเทียบไปแล้ว แต่ละโรงงานก็มีความเสี่ยงแตกต่างกัน

อย่างโรงอาหารสัตว์ในบางจังหวัดเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงน้อย ด้วยลักษณะธุรกิจอาหารสัตว์มีพนักงาน 10-20 คน และคนงานเป็นกะ กะละ 40-50 คน มีบริเวณกว้างหลายไร่ มันไม่มีความหนาแน่นในโรงงาน ส่วนโรงงานที่มีความเสี่ยงมากก็จะเป็น โรงงานชำแหละไก่ ชำแหละหมู

ดังนั้น โรงงานเหล่านี้ก็ใช้วิธีกำหนดพื้นที่ในโรงงานเป็น factory isolation หรือแม้กระทั่งไปเช่าโรงแรมข้างนอก เช่น รีสอร์ตหรืออพาร์ตเมนต์ ที่ว่างอยู่ในช่วงแรกที่ยังเซตโรงพยาบาลไม่ทัน

“โรงงานที่สระบุรีมีคนงาน 5,000 คน ซึ่งตอนที่เกิดการระบาดของโควิดในโรงงานช่วงเดือนพฤษภาคม เรามีคนงานติดเชื้อประมาณ 500 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นสีเหลืองและสีเขียว เป็นสีแดงแค่ไม่กี่สิบคน ในส่วนของโรงพยาบาลสนามที่เราตั้งขึ้นสามารถที่จะดูแลได้ทั้งผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง

ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในระดับสีแดงก็จะต้องไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสระบุรี แต่ตอนนี้เราสามารถดูแลได้หมดแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงแรกที่ยังเตรียมโรงพยาบาลสนามไม่พร้อม เราก็มีไปเช่าพื้นที่โรงแรมข้างนอกด้วย แต่ตอนนี้เราเตรียมพร้อมได้หมดแล้ว”

ตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง

ขั้นตอนก็คือ การคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อสีเขียว เหลือง และแดง จะต้องแบ่งการรักษา คนที่เป็นสีแดงต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนสีเหลืองและสีเขียวจัดพื้นที่ในโรงงานไว้ให้จากการสร้างโรงพยาบาลสนามไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเรามีโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง คือ จ.สระบุรี จับคู่กับโรงพยาบาลสระบุรี มีจำนวน 400 เตียง

แต่ว่าตอนนี้เราใช้ไม่หมด เราสำรองไว้สำหรับคนงานของเราอยู่ 100 เตียง ส่วนอีก 300 เตียง ท่านผู้ว่าฯสระบุรีก็ขอไว้สำหรับให้ชุมชน และส่วนอื่นเข้ามาร่วมรักษาด้วย แต่ถ้าเกิดการระบาดเป็นหนักขึ้นอีกก็จะสามารถขอใช้พื้นที่โรงพยาบาลสนามคืนได้ ที่สำคัญก็คือ เราสามารถขยายจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นจาก 400 เตียง เป็น 800-1,000 เตียงได้ เพราะมีบริเวณพื้นที่กว้าง

ส่วนโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 อยู่ที่หนองจอก จับคู่กับโรงพยาบาลบางปะกอก เพิ่งจะเปิดตัวเมื่อ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลสนามที่ค่อนข้างมีมาตรฐานมาก อาคารแรกทำ 250 เตียง สำหรับผู้ป่วยระดับเหลือง และมีอาคารที่ 2 กำลังปรับปรุงเพิ่มเติม 150 เตียง

สำหรับผู้ป่วยที่มีระดับสีเหลืองเข้ม ซึ่งจะมีการใส่ระบบออกซิเจนเข้าไปทั้งหมด โดยโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะให้เฉพาะพนักงานในกรุงเทพฯก่อน เพราะเป็นโซนสีแดงที่มีการระบาดหนัก แต่ถ้ามีพื้นที่เหลือก็จะแบ่งให้กับคนนอกเข้ามารับการรักษาด้วย

“การทำโรงพยาบาลสนามแห่งหนึ่ง (250 เตียง) จะใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท เรามีที่ดินอยู่แล้ว และที่ CPF บริหารจัดการแบบนี้ พนักงานก็สบายใจ และชุมชนรอบข้างก็สบายใจ ซึ่งเดี๋ยวเราจะต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในเรื่องอื่นด้วย เพราะถ้าเค้ามีปัญหา เราก็มีปัญหาด้วย

เพราะเราเป็นสังคมเดียวกัน เลี่ยงไม่ได้ การที่เขาได้มาทำงานที่โรงงานของ CPF พนักงานต้องรู้สึกปลอดภัยกว่าอยู่บ้าน นี่เป็นหลักคิดของเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถ้าอันตรายกว่าจะไม่มีคนกล้ามาทำงานหรอก เราต้องดูแลคนของเราอย่างดี”

ดังนั้น เราต้องทำระบบรองรับทั้งหมด ตั้งแต่การเดินทางจากที่พักมายังโรงงานต้องดูแลอย่างดี เมื่อเข้ามาในโรงงานแล้วก็ต้องมีระบบเช็ก เช็กเสร็จ ถ้ามีปัญหาก็ทำไอโซเลชั่นในโรงงานให้ ฉีดวัคซีนไปแล้ว และยังได้จองวัคซีน โมเดอร์นา ไว้ให้พนักงานด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ