CPF ร่วมเติมประสบการณ์ เยาวชนไทยวิถีใหม่ แหล่งเรียนรู้ ใน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน”

สถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนของนักเรียนในหลายพื้นที่ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ แต่อีกหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เด็กๆ ยังเดินทางมาเรียนและทำกิจกรรมตามปกติ ซึ่งนอกเหนือจากการเรียนการสอนทางวิชาการในห้องเรียนแล้ว การเรียนรู้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน ทำให้เด็กๆ นำไปใช้เป็นอาชีพได้ในอนาคต อาทิ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่สนับสนุนโดย CPF และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ลงมือปฏิบัติจริง ได้เข้าถึงโภชนาการที่ดีด้วยการบริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ ขณะเดียวกันชุมชนรอบข้างยังได้ประโยชน์จากการซื้อไข่ไก่สด สะอาด ในราคาย่อมเยามาบริโภคด้วย
ด.ญ.พิยดา เยอะหนื่อ หรือน้องหมีพู อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.1 รร.บ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) เด็กหญิงชาวอาข่า ที่มีความมุ่งมั่นเรียนให้จบชั้นปริญญา และอยากเห็นเพื่อนๆ เด็กบนดอยเหมือนเธอได้มีโอกาสเรียนจนจบปริญญา หมีพู เล่าว่า เธอมีส่วนร่วมในการช่วยดูแลให้อาหารไก่และเก็บผลผลิตไข่ไก่ในโครงการฯ ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และอยากนำไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ จะได้มีอาชีพติดตัวและช่วยเหลือครอบครัวตนเองได้ เช่นเดียวกับ ด.ญ.ยุง จุงสาม นักเรียน ชั้น ม.1 รร.บ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) ชาวไทใหญ่ บอกว่า เธอมีโอกาสได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่จากโครงการฯ หากเรียนจบชั้นมัธยมแต่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ก็จะนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคต
คุณประสงค์ สิทธิวงค์ ครูชำนาญการพิเศษ รร.บ้านดู่ (สหราษฎร์พัฒนาคาร) เล่าว่า ได้เข้ารับการอบรมเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ปี 2551 สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปขยายเครือข่ายให้กับชุมชนและโรงเรียนต่างๆ รวมถึงนำความรู้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับประเทศมาแล้วหลายครั้ง โรงเรียนได้จัดฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติ เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของโรงเรียนและชุมชน และนำผลผลิตไข่ไก่สนับสนุนโครงการอาหารกลางวันได้อย่างยั่งยืน
ด้าน คุณอุเทน วนาประเสริฐยิ่ง นักเรียนชั้น ม.4 รร.บ้านแม่ระเมิง จ.ตาก โรงเรียนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร อยู่ห่างจากตัว อ.ท่าสองยาง 70 กิโลเมตร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ใช้โซลาร์เซลล์และเครื่องปั่นใจ ใช้ประปาภูเขา มีนักเรียน 957 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน มาตั้งแต่ปี 2559
คุณอุเทน สมัครใจช่วยคุณครูอยู่ดูแลไก่ไข่อยู่ที่โรงเรียน ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เพราะบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเกือบ 10 กิโลเมตร เล่าว่า ปีนี้โรงเรียนเราเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว และขยายจำนวนจาก 250 ตัว เป็น 400 ตัว โครงการฯ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนของนักเรียน ที่ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลไก่อย่างถูกวิธี สามารถนำความรู้จากการเลี้ยงไก่ไปประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตจากไข่ไก่ เช่น ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ผลผลิตไข่ไก่ของโรงเรียนมีผลผลิตเหลือจำนวนมาก จากที่เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้วันละ 300 ฟอง เพราะไม่ต้องส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน คุณครูก็จะแจ้งทางไลน์ให้ผู้ปกครองทราบ หรือแจ้งผ่านชุมชน สามารถซื้อไข่ไก่จากทางโรงเรียนได้ในราคาแผง 30 ฟองอยู่ที่ 90 บาท อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผมและเพื่อนๆ จะใช้วิธีออกไปส่งไข่ไก่ให้กับผู้ที่ต้องการซื้อถึงบ้าน
ด้านคุณสุบรรณ แหล่ป้อง รักษาการผู้อำนวยการ รร.บ้านทุ่งมน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรงเรียนรับมอบโครงการฯ จาก CPF เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีมาต่อยอดโครงการเรื่องการบันทึกข้อมูลและรายงานข้อมูลของโรงเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Google Form เช่น จำนวนไก่ อาหารสัตว์ ผลผลิตไข่ไก่ ไก่ปลด รายงานการเลี้ยง และรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตไข่ไก่ เป็นต้น นอกจากเด็กๆ จะมีประสบการณ์การเลี้ยงไก่ไข่แล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงด้วย ขณะเดียวกัน ผลผลิตจากไข่ไก่ที่เหลือจากการส่งเข้าโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งโรงเรียนนำไปจำหน่ายให้ผู้ปกครองและชุมชนได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ในราคาย่อมเยา โดยในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา โรงเรียนมีรายได้จากผลผลิตไข่ไก่เกือบ 2 หมื่นบาท
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นความร่วมมือของ CPF มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับพันธมิตร อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (เจซีซี) แม็คโคร ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศเข้าถึงการบริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญาอย่างสมวัย ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย สามารถนำประสบการณ์การเรียนรู้เลี้ยงไก่ไข่ไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต