ซีพีเอฟ-สจล.ปั้นโปรแกรมเมอร์รุ่นใหม่ ใช้เทคโนฯยกระดับภาคเกษตร

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ 42 Bangkok สถาบันสอนเขียนโปรแกรมชั้นนำระดับโลก สร้างโปรแกรมเมอร์ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล นำร่องจัดกิจกรรม “Virtual Hackathon by 42 Bangkok X CPF” สรรหาคนรุ่นใหม่สร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผ่านการเรียนรู้จากโจทย์ธุรกิจจริง

คุณสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ จำกัด (CPFIT) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ และ 42 Bangkok ซึ่งเป็นสถาบันสอนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกของไทย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในครั้งนี้ มีเป้าหมายผลิตบุคลากรด้านโปรแกรมเมอร์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ผ่านโจทย์ธุรกิจและการปฏิบัติจริง

โดยนำร่องจัดกิจกรรม “Virtual Hackathon by 42 Bangkok X CPF” มีซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร และเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก เป็นผู้เสนอโจทย์การแข่งขันรวม 6 โจทย์ เพื่อคัดสรรผู้ที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร พัฒนาการเกษตรทันสมัย ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล


“ซีพีเอฟ เล็งเห็นว่าความร่วมมือกับ 42 Bangkok จะช่วยพัฒนาทักษะใหม่ให้แก่บุคลากรของบริษัท ตอบโจทย์การทำงานในยุคเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป และยังเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ ร่วมพัฒนาประเทศไทย จากการช่วยกันคิดค้นนวัตกรรม ทำให้เทคโนโลยีและซอฟแวร์มีต้นทุนที่ถูกลง เกษตรกรในทุกระดับมีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีที่ดี พัฒนาตัวเอง และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศไทย ” คุณสรรเสริญกล่าว

สำหรับโจทย์ธุรกิจที่กำหนดโดยซีพีเอฟทั้ง 6 โจทย์ ประกอบด้วย 1. Excellent Farmer ผู้ช่วยเกษตรกรอัจฉริยะ (เกษตรแม่นยำ) นำเทคโนโลยี Machine Learning (ML) และ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการเพาะปลูก การศึกษารูปแบบการเพาะปลูกที่ดีเพื่อให้ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เป็นผู้ช่วยเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศมีคุณภาพและได้ผลผลิตสูงขึ้น อาทิ ข้าวโพด

2.Agriculture GIS Visualization ซ้อนภาพดาวเทียมและบอกพิกัด การเกษตรโดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมถ่ายภาพจากมุมสูงได้ในบริเวณที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถวิเคราะห์ความหนาแน่นของแปลงปลูกบริเวณต่างๆ

3.Smart Shrimp Farming ฟาร์มกุ้งอัจฉริยะ พัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงกุ้ง สายพันธุ์กุ้งขาวแวนดาไม ในโรงเรือนแบบปิด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ การให้อาหาร การประเมินจำนวน ขนาดและน้ำหนัก ระบบวัด และควบคุมคุณภาพน้ำ

4. On-Shelf product availability with image processing การนับจำนวนสินค้าในชั้นวางสินค้าของร้านค้าปลีกโดยใช้ภาพจากกล้อง การใช้กล้องวงจรปิด ติดตั้งบนเพดาน เพื่อว่าถ่ายภาพชั้นวางสินค้าจากมุมสูง เพื่อทราบชนิดสินค้า และจำนวนสินค้าที่เหลืออยู่บนชั้นวางสินค้า

5. Document type classification and data extraction for automated data entry การจัดระบบเอกสารในรูปแบบดิจิทัล และสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้สะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ

6. Food Supply Chain (Conceptual)Model โมเดลการบริหารจัดการห่วงโซ่อาหาร ใช้เทคโนโลยีเรียลไทม์ และบล็อกเชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทตรวจสอบย้อนกลับและสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ

การแข่งขันซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual Hackathon มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 24 ทีม ทีมละ 4 คน รวม 96 คน ซึ่งผลการแข่งขัน ทีมป๊อปคอร์น (Popcorn) คว้ารางวัล เดอะ เบสท์ (The Best Award) ภายใต้โจทย์ Excellence Farmer โดยมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อ Corn – Lab แนวคิด “ให้การปลูกข้าวโพดเป็นเรื่อง สนุก ง่าย และได้คุณภาพ”

ทั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด ครอบคลุมตั้งแต่ เริ่มปลูก การแก้ปัญหาในการเพาะปลูก รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายชุมชนผู้ปลูกข้าวโพด นำไปสู่การสร้างห้องเรียนผู้เชี่ยวชาญ และแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศ มีการนำเทคโนโลยี ML/AI มาใช้ในการการเพาะปลูก ส่งเสริมให้เกษตรกรข้าวโพดของประเทศไทยเป็น “เกษตรกรแม่นยำ”และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ทีมป๊อปคอร์นยังเป็น 1 ใน 6 ทีมผู้แข่งขันที่ชนะรางวัล เฟิรสท์ ไพรซ์ (First Prize) ซึ่งมอบให้แก่ทีมที่มีผลงานที่ได้คะแนนสูงสุดของทั้ง 6 โจทย์ การแข่งขัน โดยอีก 5 ทีมประกอบด้วย ทีมวัคซีน (Vaccine) ได้คะแนนสูงสุดในหัวข้อ Agricultural GIS Visualization ทีม ฟอเรสท์ ชริมพ์ (Forrest Shrimp) ได้คะแนนสูงสุด ในหัวข้อ Smart Shrimp Farming ทีม เลสท์ โก (Let’s Go) ได้คะแนนสูงสุด หัวข้อ On-shelf Product Availability with Image Processing และทีม ดี-ดาต้า (D-Data) ได้คะแนนสูงสุด หัวข้อ Document Type Classification and Data Extraction for Automated Data Entry และ ทีม ที เอ็ม ดี (TMD) ได้คะแนนสูงสุดหัวข้อ Food Supply Chain Model

คุณสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่ซีพีเอฟซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเป็นครัวของโลก จะนำเกษตรเทคโนโลยี ยกระดับเกษตรสู่ 4.0 ด้วยซอฟต์แวร์ สร้างประโยชน์และความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ช่วยพัฒนาประเทศไทย สอดรับตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ที่ซีพีเอฟยึดปฏิบัติมาโดยตลอด คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท

ทั้งนี้ สถาบัน 42 Bangkok เป็น Programming School ระดับโลก ภายใต้ชื่อ 42 ปัจจุบันมีทั้งหมด 33 แห่ง ใน 22 ประเทศ สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทย เป็นสถาบันโปรแกรมเมอร์แห่งแรกของไทย อยู่ในความรับผิดชอบของสจล. ดำเนินงานภายใต้แนวคิด คือ ไม่มีอาจารย์ เน้นการเรียนรู้แบบ peer to peer จากโจทย์ธุรกิจจริง ไม่มีปริญญา ไม่มีค่าเทอม โดยในอนาคต ซีพีเอฟ และ สจล.วางแผนขยายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมท้ังประสานความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและมีศักยภาพสู่สังคม

ที่มา : https://siamrath.co.th