CPF หนุน BCG Model พัฒนา “Future Food” ร่วมขับเคลื่อนสู่ความมั่นคงทางอาหาร

CPF ตอกย้ำความเป็น “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” โชว์นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เน้นการพัฒนาอาหารจากวัตถุดิบทางเลือก และเทคนิคใหม่ๆ เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้บริโภค สร้างสมดุลระบบนิเวศซึ่งเป็นฐานทรัพยากรในการผลิตอาหาร พร้อมร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับเทรนด์อาหารโลกที่มีความสำคัญต่อวิถีความเป็นอยู่ของทุกคนในอนาคตข้างหน้า หนุนอุตสาหกรรมอาหารไทย ขับเคลื่อนหลัก BCG Economy ต่อยอดสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สร้างโอกาสทางการค้า ตอบรับสถานการณ์โลก
ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ CPF ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อ Future Food Trends หรือเทรนด์อาหารอนาคต ในงาน Isan BCG Expo 2022 จัดขึ้น ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ วันที่ 9 – 12 ธันวาคม โดยกลุ่มมิตรผล ซึ่ง ดร.ลลานา กล่าวว่า อาหารแห่งอนาคตต้องตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่สุขภาพของประชากรและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การพัฒนาอาหารแห่งอนาคต จะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น สุขภาพที่ดี ความสะดวกสบาย การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ใช่แค่การคำนึงถึงสิ่งที่จำเป็นต่อผู้บริโภคอีกต่อไป
ดังนั้ CPF ซึ่งมีวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็น “ครัวของโลก” และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร หรือ CPF RD Center จึงพัฒนาอาหารเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ของผู้บริโภค และความยั่งยืนของโลก โดยนำหลักเศรษฐกิจโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy : BCG เป็นพื้นฐานร่วมกับการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิจัยและพัฒนาอาหารครบวงจรตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จนถึงบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งร่วมมือกับสตาร์ทอัพ คู่ค้า พันธมิตร และสถาบันวิจัยทั่วโลก วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
“เราเริ่มจากการที่เราทำผลิตภัณฑ์ functional drinks ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้านสุขภาพอย่างยั่งยืนที่เริ่มจากโภชนาการที่ดี ผลิตภัณฑ์ plant-based protein ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้านโปรตีนทางเลือก และในอนาคตเราจะโฟกัสในกลุ่มผลิตภัณฑ์เฉพาะบุคคลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารผู้สูงอายุ อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย NCD ฯลฯ” ดร.ลลานา กล่าว
หนึ่งในความสำเร็จของ CPF RD Center คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชแบรนด์ Meat Zero โดยร่วมกับสถาบันวิจัยระดับโลก คิดค้นเทคโนโลยี PLANT TEC เทคนิคการสร้างเนื้อจากพืชมีลักษณะกลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จริง ทำให้มีจุดเด่นตรงรสชาติอร่อย และยังมีความหลากหลายเรื่องของเมนู เป็นทั้งอาหารพร้อมทานและอาหารพร้อมปรุง รสชาติดี มีไฟเบอร์สูง ไม่มีคอเลสเตอรอล ใช้สารปรุงแต่งให้น้อยที่สุด ไม่ใช้สารกันบูด รวมถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่ม Flexitarian กลุ่มรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ยังร่วมมือกับสตาร์ทอัพและองค์กรชั้นนำพัฒนาโปรตีนทางเลือกอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ (cell-based protein)
CPF ยังให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก เช่น ไก่เบญจา ครั้งแรกของโลกที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง และเพิ่มโอเมก้าทำให้เนื้อไก่มีโอเมก้าสูง การพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูชีวา ที่เลี้ยงด้วย Superfood จึงมีโอเมก้าสูงกว่าเนื้อหมูทั่วไป ผลิตภัณฑ์ BiFiO Probiotic อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกันดีขึ้น ปรับสมดุลลำไส้ อาหารเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม NutriMax กลืน ง่าย ย่อยง่ายและ เร็ว มีคุณค่าทางอาหารตามที่ผู้สูงอายุต้องการ อาหารลดปริมาณโซเดียม ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs)
ดร.ลลานา กล่าวว่า ภายในปี 2574 โลกจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว โดย 28% ของประชากรโลกมีอายุมากกว่า 60 ปี สำหรับไทย ตอนนี้ประชากรกว่า 11 ล้านคน มีอายุมากกว่า 60 ปี ตลาดอาหารเพื่อผู้สูงจึงกลายเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีความสำคัญกับไทย
“ศูนย์วิจัยของ CPF ยังคงเดินหน้าพัฒนาเพื่อสุขภาพ โพรไบโอติก อาหารที่มีโปรตีนสูง และอาหารสำหรับ ผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลัก BCG โมเดล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก” ดร.ลลานา กล่าวทิ้งท้าย
ภายในงานเดียวกัน คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน CPF ยังร่วมเสวนาในหัวข้อ The Real Sustainable Community โดยย้ำว่า CPF ยึดหลัก BCG Model ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนรอบสถานประกอบการอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การกระตุ้นให้พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดเครือข่าย และความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการดูแลชุมชนให้สามารถมีรายได้ ความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF