CPF ร่วมเวทีแชร์ประสบการณ์ “เปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน”

CPF ร่วมเวทีแชร์ประสบการณ์ ในหัวข้อ “Agriculture-Energy-Climate Dialogue on Biomass” สัมมนาผ่านระบบออนไลน์ จัดโดย ก.เกษตรและสหกรณ์ ก.พลังงาน ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมโกลบอลคอมแพ็คแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ก.สิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี คุณจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF เป็นตัวแทนบริษัทฯ นำเสนอกิจกรรมที่ทำให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของไทย ด้วยการนำพลังงานจากชีวมวลมาใช้ในกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ดีที่ภาคเอกชนลงมือทำจริง มาเป็นผลลัพธ์ที่ดีให้กับประเทศ พลิกโฉมระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทน กลุ่มมิตรผล และ SCG ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย
คุณจีระณี ตัวแทน CPF กล่าวว่า CPF ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการที่ดี ส่งมอบให้ผู้บริโภคกว่า 4 พันล้านคน ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มุ่งมั่นหมุนเวียนใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่เส้นทางดังกล่าว คือ การนำพลังงานชีวมวลมาใช้ เป็นการช่วยรักษาอุณหภูมิของโลก
CPF ผลิตอาหารตั้งแต่ต้นทาง คือ ผลิตอาหารสัตว์ ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผลิตอาหารเพื่อมนุษย์ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ผนวกกลยุทธ์ความยั่งยืนในกลยุทธ์ธุรกิจ ประกาศเป้าหมายและกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability In Action ภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดินน้ำป่าคงอยู่ สนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้ทั้ง 17 ประการ และสนับสนุนปฏิญญากลาสโกว์ เพิ่มพื้นที่เขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในปี 2065
สำหรับเส้นทางการดำเนินงานด้าน Net-Zero ของ CPF และการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน บริษัทฯ มีแนวปฏิบัติในการก้าวสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ทั้งการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Removal)
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทฯ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมไปถึง AI หุ่นยนต์ และระบบบล็อกเชนที่นำมาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้พลังงานหมุนเวียน Biomass และ Biogas เปลี่ยนมูลสุกร มูลไก่ เป็นพลังงาน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ อาทิ เนื้อไก่สดซีพี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 50% เนื้อหมูสดซีพี ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 13% และโปรตีนทดแทนจากพืช MEAT ZERO ปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าเนื้อสัตว์ 80-90%
นอกจากนี้ CPF ยังสนับสนุนการกักเก็บคาร์บอน ประกาศเป้าหมายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 ครอบคลุมกิจการของบริษัทฯ รวมถึงคู่ค้าซึ่งจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ CPF ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่า น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลืองและมันสำปะหลัง โดยร้อยละ 100 ของวัตถุดิบ ต้องไม่มาจากแหล่งที่ตัดไม้ทำลายป่า เช้่น ตั้งแต่ปี 2020 ร้อยละ 10 ของข้าวโพดที่เข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ สามารถตรวจสอบได้ว่าไม่มาจากแหล่งตัดไม้ทำลายป่า คิดเป็นพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ รวมไปถึงความร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน อนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการให้ได้ 2 หมื่นไร่ ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมได้ถึง 2 แสนตัน
สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของ CPF กล่าวว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 65% พลังงานชีวภาพ 33% และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากว่า 6 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 48 ล้านต้น หรือประมาณ 2.4 แสนไร่
ในปี 2022 มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในไทยเป็นศูนย์ และหันมาใช้พลังงานชีวมวลแทน ซึ่งการยกเลิกการใช้ถ่านหินในอีก 3 โรงงานที่เหลือ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มเติมอีก 7 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะเดียวกัน พลังงานชีวมวลที่นำมาใช้ อาทิ นำไม้สับมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่มาจากแหล่งที่มาจากการตัดไม้ทำลายป่า การส่งเสริมชุมชนให้ปลูกต้นไม้ทดแทน นับเป็นการดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ CPF อยู่ระหว่างการศึกษานำมูลไก่มาใช้เป็นพลังงานชีวมวล สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงาน พร้อมกันนี้ ได้เสนอในมุมมองของภาคเอกชนว่า ให้กำหนดเกณฑ์คุณภาพของชีวมวลที่นำมาใช้ อาทิ คุณภาพความชื้นของไม้สับที่ใช้ ราคาตามค่าความร้อน มาตรการอุดหนุน (Subsidize) สำหรับการเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวล เช่น การลด VAT เป็นต้น
Cr.PR CPF