“CPF ได้รับการรับรอง IPHA” ย้ำ! ความมั่นใจปลอดภัยจากโควิด-19

CPF ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัย “IPHA – Industrial and Production Hygiene Administration” ตอกย้ำความปลอดภัยในมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดกระบวนการผลิต สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
คุณสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจสัตว์บก CPF เปิดเผยว่า CPFให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 บริษัทได้ยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด ป้องกันบุคลากร อาคารสถานที่ ตลอดจนกระบวนการผลิตทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
และเมื่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก.สาธารณสุข และ ก.อุตสาหกรรม ร่วมกันจัดทำ มาตรฐาน IPHA ขึ้นมา CPF โดย โรงงานอาหารสัตว์บก โรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานอาหารสำเร็จรูป จำนวน 9 โรงงาน จึงเป็นสถานประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับการรับรองดังกล่าว
“CPF มีการบริหารจัดการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด มีการจัดตั้งทีมบริหารจัดการโรคระบาดทั้งในคนและในสัตว์ ภายใต้ศูนย์อำนวยการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ของบริษัท โดยมีการกำหนดมาตรการต่างๆที่สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในอาหารปลอดภัยของบริษัทตั้งแต่ต้นทางจึงถึงปลายทาง ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการ การได้รับการรับรอง IPHA ครั้งนี้จึงช่วยตอกย้ำความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง”คุณสิริพงศ์กล่าว
มาตรฐาน IPHA เป็นมาตรฐานใหม่ที่ 3 หน่วยงานประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ก.สาธารณสุข และ ก.อุตสาหกรรม ร่วมกันวางกรอบการพิจารณา เพื่อมอบให้แก่สถานประกอบการที่มีการบริหารจัดการสถานที่ กระบวนการผลิต และบุคลากร ตามมาตรการร่วม และมาตรฐานด้านสุขอนามัย ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการเพื่อป้องกัน COVID-19 อย่างชัดเจน
CPF ได้วางมาตรการการทำงานด้านป้องกันโรคระบาดดังกล่าว 7 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข มาตรการป้องกัน การจัดซื้อ การสื่อสารพนักงาน การสื่อสารสาธารณะ ประสานงานภาครัฐ และการเยียวยา โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันโรคให้ “พนักงาน” ด้วยตระหนักดีว่าเมื่อพนักงานปลอดภัยก็จะสามารถผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคทุกคนได้อย่างราบรื่น
บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการสำคัญ เพื่อให้การบริหารจัดการธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม 3 ประเด็นคือ
           1. ความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่บริษัทต้องสามารถเดินสายพานการผลิตอาหารโดยไม่สะดุด เพื่อป้องกันอาหารขาดแคลน
          2. ระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ ที่ประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการจราจรหากเกิดการล็อคดาวน์ โดยการขนส่งจะต้องดำเนินการต่อไปได้ ทั้งการขนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงานผลิตอาหาร และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค
           3. มาตรการป้องกันโรคในแต่ละขั้นตอน มีการออกประกาศเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติตัวของพนักงานทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเตรียมความพร้อมด้านจัดซื้อแอลกอฮอล์และหน้ากาก การสั่งการพนักงานบางส่วนให้ Work From Home และกำหนดให้พนักงานที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัวเอง 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา เป็นต้น
จากการระบาดรอบแรกจนถึงปัจจุบัน CPF ยังคงทำหน้าที่ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแบ่งปันมาตรการและเทคนิคบริหารจัดการสถานการณ์ไปยัง บริษัทคู่ค้า เกษตรกร และผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่จะร่วมกันก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน
Cr.PR CPF