กรมป่าไม้ มอบโล่ “CPF”ในฐานะผู้ช่วยเหลือราชการ ประจำปี 2564 ร่วมฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้

กรมป่าไม้ มอบโล่ให้กับ CPF ในฐานะผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ ประจำปี 2564 สาขาการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ จากการดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี พื้นที่ 6,971 ไร่ ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 125 ปี ในวันนี้ (18 กันยายน 2564) ซึ่งจัดงานขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “รัฐมีป่า ประชามีสุข ยุควิถีใหม่ ” โดยมี คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงของกรมป่าไม้ ร่วมงาน ณ ห้องประชุม 1 อาคารเทียมคมกฤส กรมป่าไม้
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานว่า การทำงานของกรมป่าไม้ถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันหลายมิติของประเทศไทย ซึ่งภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีภารกิจต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% ซึ่ง กระทรวงฯ คงไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในประเทศไทยในขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร CPF กล่าวว่า กรมป่าไม้เป็นหน่วยราชการที่สำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของโลก โดยเฉพาะประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายด้านความยั่งยืน เราคาดหวังว่ากรมป่าไม้จะให้การสนับสนุนต่อภาคประชาสังคมมากขึ้น รวมถึงการนำนวัตกรรมการฟื้นฟูป่าให้รวดเร็วและขยายพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะนี่คือคำตอบสำคัญที่จะปกป้องรักษาโลก และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
CPF ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยได้ร่วมมือในรูปแบบ 3 ประสาน กับกรมป่าไม้และชุมชนในพื้นที่รอบเขาพระยาเดินธง ดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก พื้นที่ 5,971 ไร่ ในระยะที่หนึ่ง ( ปี 2559-2563) และปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่ 2 ของโครงการ (ปี 2564-2568) สานต่อความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอีก 1,000 ไร่ รวมเป็น 6,971 ไร่ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่า และเป็นต้นแบบการฟื้นฟูป่าให้ผืนป่าแห่งอื่นๆ ของไทย
“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นโครงการที่บริษัทมีส่วนร่วมดำเนินการครบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สำรวจพื้นที่ ศึกษารูปแบบการปลูกป่า การวางแผนปลูกป่า และการดูแลให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต จนถึงกระบวนการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของ CPF ติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิดและผืนป่าที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า สามารถเป็นต้นแบบให้กับการฟื้นฟูผืนป่าอื่นๆของประเทศ จากการใช้การปลูกป่าใน 4 รูปแบบ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ช่วยย่นระยะเวลาการฟื้นฟูป่าได้เร็วกว่าปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ ขณะเดียวกัน CPF เข้ามาช่วยดูแลการปลูกป่า ด้วยการจัดการเรื่องระบบน้ำเพื่อช่วยให้ต้นไม้ในพื้นที่เติบโต เพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ที่ปลูกได้เกือบ 100%” คุณวุฒิชัย กล่าว
Cr. PR CPF