การสร้างวัฒนธรรมองค์กร…กับการทำงานในอนาคต ตามวิถีซีพี กับ ‘คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล’ ประธานผู้บริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล เครือ CP-CPF

คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล เครือ CP-CPF ได้รับเชิญจาก เครือ SCG เป็นวิทยากรแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ ในหัวข้อ “Work and Well-being during Covid -19” แก่ ผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มงานด้านทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาองค์กรในทุกธุรกิจของเครือ SCG ภายใต้โครงการ SCG HR/OD Professional 2021
คุณพิมลรัตน์ เล่าว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจทั่วโลกรวมทั้งเครือซีพีปรับการทำงานแบบเดิม เป็นการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือ การทำงานทางไกล (Remote Work) ซึ่ง HR จะเข้ามามีบทบาทในการประเมินและออกแบบการทำงานที่เหมาะสมกับองค์กรให้มากที่สุด เพื่อให้พนักงานทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อดูแลสุขอนามัยของพนักงานควบคู่กับการเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กร รักษาความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร การบริหารธุรกิจให้ต่อเนื่องและดูแลสุขภาวะพนักงานในช่วงวิกฤต มุมมองและทัศนคติของผู้นำองค์กรเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความผูกพันและวัฒนธรรมองค์กร เครือ CP-CPF ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศนโยบายสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน เช่น การไม่เลิกจ้างงานจากเหตุโควิด การให้ความช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ CEO คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ได้นำนโยบายของท่านประธานอาวุโส มาต่อยอด ยกระดับมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยของพนักงานตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วยมาตรฐานเดียวกัน ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดย CPF ได้จัดตั้งคณะกรรมการโควิด-19 เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันสังคมขาดแคลนอาหาร ขณะเดียวกัน เครือ CP-CPF ยังดำเนินโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ช่วยเหลือสังคม โดยส่งมอบอาหารคุณภาพปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเปราะบางต่อเนื่องที่ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563
❇️ เทคโนโลยีช่วยดูแลสุขภาวะที่ดีของพนักงานกับการทำงาน Hybrid Work
หัวใจการสร้างวัฒนธรรมและความผูกพันองค์กร HR มีบทบาทสำคัญในการออกแบบรูปแบบการทำงานในอนาคตที่เหมาะสมกับองค์กร อย่าง CPF มีการทำงานผสมผสานระหว่างทำงานที่บ้าน และทำงานทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและดูแลสุขภาพพนักงานควบคู่กันในช่วงการระบาดโควิด-19 พนักงานใช้ แอปพลิเคชัน CPF Connect บันทึกการเข้า-ออกเวลาทำงาน แอปการประชุมทางไกล เป็นต้น
เทคโนโลยียังช่วยให้ HR มี “ข้อมูล” ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการช่วงวิกฤตได้ทันสถานการณ์ เช่น ในช่วงการระบาดในวงกว้าง บริษัทฯ สร้างแผนที่ Heat Map Tracking เพื่อทราบว่าพนักงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีจำนวนผู้ติดเชื้อหรือป่วยในแต่ละวัน HR เข้ามาดูแลพนักงานได้รับการช่วยเหลือเรื่องสุขภาพอย่างรวดเร็ว เช่น การจัดหาโรงพยาบาล การสร้างโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยในพื้นที่บริษัท การดำเนินมาตรการ bubble and seal เพิ่มความเชื่อมั่นความปลอดภัยให้พนักงานและชุมชน รวมถึงจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่พนักงานที่อยู่ในต่างจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ
❇️ องค์กรเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรและความผูกพัน เน้น “คนเป็นศูนย์กลาง”
คุณพิมลรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า ขณะที่การทำงานแบบ Hybrid Work มีการตั้งคำถามว่า จะลดความผูกพันต่อองค์กรหรือไม่ ซึ่ง HR มีบทบาทช่วยคิดสร้างพลังบวกให้พนักงาน ลดระยะห่างให้คนทุกระดับเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น โดย CPF เน้นคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centered organization) ในการสร้างผ่านแคมเปญ “วัฒนธรรมการชื่นชม” กระตุ้นให้พนักงานชื่นชมคนที่ปฏิบัติตามค่านิยม CPF Way ผ่านแพลตฟอร์ม C.P. Value Point เพื่อเปลี่ยนการชื่นชมพนักงานเป็นคะแนน True Point ให้สามารถนำไปแลกซื้อสินค้าที่ร้านค้าภายในและนอกเครือฯ ได้ และนำแพลตฟอร์มนี้ไปเชื่อมกับกิจกรรมชมรมส่งเสริมความสุขและความสัมพันธ์ของพนักงาน รวมทั้งกิจกรรม “Sustainability in Action ยั่งยืน ได้ด้วยมือเรา” ส่งเสริมให้พนักงานทั่วทั้งองค์กรได้ร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมจากที่ไหนก็ได้ โพสต์การปลูกต้นไม้ และกินอาหารเกลี้ยงจาน แชร์ให้เพื่อนๆ ทางสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้คนใกล้ชิดขึ้นแม้จะทำงานอยู่ต่างที่กัน
เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในรูปแบบการทำงานในยุคนิวนอร์มอล ช่วยให้ช่องว่างของผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานแคบลง พนักงานรู้สึกดีที่ได้รับการยอมรับและสัมผัสได้ถึงความทุ่มเทเอาใจใส่ของผู้บริหาร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยสร้างความผูกพันและสร้างวัฒนธรรมองค์กรในช่วงการทำงานแบบ Remote Work ของ CP-CPF ได้เป็นอย่างดี