CPF เปิดตัวโครงการ “Supplier Development program” เสริมแกร่งการผลิต สร้างโอกาสให้คู่ค้า SMEs

CPF เพิ่มขีดความสามารถคู่ค้าธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ต่อเนื่อง ปีนี้เตรียมเปิดตัวโครงการ Supplier Development Program ใช้ศักยภาพขององค์กรช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น สร้างแต้มต่อเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ปรับตัวรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก
คุณธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักจัดซื้อกลาง CPF กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าธุรกิจในทุกมิติเพื่อสร้างความสำเร็จและการเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยต่อยอดจากความสำเร็จในการเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้คู่ค้า SMEs กว่า 6,500 ราย ปีนี้ บริษัทฯ ดำเนินโครงการ “Supplier Development Program” นำร่องกับคู่ค้า SMEs ที่มีศักยภาพของบริษัทฯ กระบวนการผลิตอาหารได้มาตรฐานสากล มาช่วย SMEs ยกระดับกระบวนการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการทรัพยากร การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ สร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs
“โครงการ “Supplier Development Program” ช่วยยกระดับขีดความสามารถของคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน สามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง มาตรฐานสากล ควบคู่กับการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล (ESG) ช่วยสร้างโอกาสให้คู่ค้าธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ” คุณธิดารัตน์ กล่าว
ที่ผ่านมา CPF ส่งเสริมโอกาสเติบโตของคู่ค้า SMEs มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ “Faster Payment” ลดระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วัน ตั้งแต่ตุลาคม 2563 จนถึงธันวาคม 2565 ช่วยให้ SMEs มีเงินหมุนเวียนใช้ในการดำเนินงานได้เร็วขึ้น บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถรักษากิจการและพนักงานได้ ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังร่วมกับ ธ.กรุงเทพ ดำเนินโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” ซึ่งช่วยให้คู่ค้าของ CPF เข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลดปัญหาเรื่องการไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้เข้าถึงเงินทุนในการดำเนินงานอย่างคล่องตัวและขยายตลาดได้มากขึ้น
นอกเหนือจากการสนับสนุนให้คู่ค้า SMEs มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อร่วมสร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัวรับกับความท้าทายในหลายๆ มิติ อาทิ การพัฒนาช่องทางการสื่อสารกับคู่ค้าด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ การสร้างเครือข่ายให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ เป็นต้น เพื่อเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF