CPF เดินหน้ายกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารสู่สากล

คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล CPF กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่มาจากแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูง มีขั้นตอนการผลิตที่ยั่งยืน ยึดมั่นในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานของบริษัท และต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก และแรงงานทาสตลอดห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การจ้างงานอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลก
ปัจจุบัน สถานประกอบการ CPF ทั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูปอาหาร 194 แห่งของธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำ ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001) ของ ก.แรงงาน และยังส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรในโครงการคอนแทร็คฟาร์มสามารถดูแลแรงงานตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ Good Labour Practice (GLP) ตั้งแต่ปี 2559 โดยมีบริษัทฯ เข้าไปช่วยประเมินผลเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ CPF ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของพนักงานทุกเชื้อชาติและทุกระดับ โดยร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation : LPN) ดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน หรือ Labour Voice By LPN ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกเชื้อชาติในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคน รวมทั้งแรงงานต่างชาติให้อาศัยทำงานอยู่ในไทยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ตลอดจนฝึกอบรมให้ความรู้กับแรงงานในประเด็นสิทธิของแรงงานด้วย
ในฐานะสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทฯ ได้ร่วมกับสมาคมฯ ส่งพนักงานเข้าอบรม “วิทยากรต้นแบบ” จัดโดย ความร่วมมือขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ มาช่วยอบรมความรู้ด้านมาตรฐานแรงงานในระดับสากลให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ 4 แห่ง ของบริษัทฯ​ และจะขยายต่อไปถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของบริษัท และเกษตรกร ให้มีความรู้และเข้าใจเรื่องการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน สอดคล้องกับนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทยสู่สากล
Cr.CPF