บทสัมภาษณ์ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ จากจีนถึงซาอุฯ CPF ไปทุกที่ที่มีโอกาส

คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร CPF พร้อมกับ คุณพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานกรรมการธุรกิจสัตว์น้ำ เขตประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย รวมทั้งการเปิดประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ทั้ง อินเดีย, สหรัฐ, แคนาดา, สิงคโปร์, ฮ่องกง และเตรียมจะไป รัสเซีย ฟิลิปปินส์ อีกด้วย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.) ได้ขยายการลงทุนไป 21 ประเทศทั่วโลก มีการดำเนินการค้าและบริการรวม 100 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุม 14 สาขาธุรกิจ ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การตลาดและจัดจำหน่ายในกิจการค้าปลีก และโทรคมนาคม ผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางด้าน geopolitic สงครามรัสเซีย-ยูเครน การเกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงในตุรกี
ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CPF หนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักของเครือในปัจจุบัน

❇️ ครบ 1 ปี รัสเซีย-ยูเครน

CPF มีการลงทุนที่รัสเซีย ตอนแรกทางโน้นบอกว่า อย่าเพิ่งไปเพราะมีเรื่องรัสเซีย-ยูเครน เราก็ต้องปรับเปลี่ยนแผนพอสมควร นอกจากนี้ เรามีการลงทุนที่โปแลนด์ ใกล้กับยูเครนด้วย แต่ธุรกิจที่รัสเซียยังไม่ได้กระทบกระเทือน อีกทั้งทางรัฐบาลรัสเซียยังช่วยสนับสนุนเรา
ทั้งการหาเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำและสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีการผลิตอาหารที่เพียงพอ ไม่ขาดแคลน ในรัสเซียเข้าลงทุนอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก็ดูปกติ ฝั่งมอสโกเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังเป็นปกติ ประชาชนใช้ชีวิตปกติ
ผมว่าที่รัสเซีย จุดแข็งก็คือ มีพลังงาน-น้ำมัน-แก๊ส มีอาหารเหลือเฟือ ปุ๋ยเคมีก็มี พอมีการแซงก์ชั่นจากฝั่งประเทศตะวันตกโดยรวมแล้ว ภาคธุรกิจในรัสเซียไม่สะเทือน แต่เราก็ต้องมีปรับกลยุทธ์ เช่น โดยปกติเราต้องนำของเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบต่าง ๆ ก็เปลี่ยนมานำเข้าจากทางเอเชียแทน โดยสั่งวัตถุดิบที่ขาดจากจีนเข้าไปใช้ เพราะสามารถเชื่อมโยงเข้าไปทางรถไฟได้อยู่แล้ว ส่วนรถไฟจีน-ลาวก็เชื่อมได้ เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ได้เชื่อมเข้าไปเท่านั้น การมีรถไฟจีน-ลาวช่วยทำให้เห็นว่า การลงทุนพัฒนาเส้นทางนี้ ทำให้การขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวเดินทางสะดวก ถือเป็นหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนทำให้ประเทศชาติเจริญมากขึ้น ไม่ต้องลงทุนมาก

❇️ ผลกระทบแผ่นดินไหวในตุรกี

ที่ตุรกี CPF มีโรงงานอาหารสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 1 แห่ง ผนังปูนร้าว ซึ่งได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเสียหายในเชิงโครงสร้างแล้วพบว่าไม่กระทบ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้ โรงงานนี้เป็น 1 แห่งในจำนวนหลายแห่งที่เราเข้าไปลงทุน
จากเหตุการณ์นี้ทำให้รู้เลยว่า ความเสียหายในประเทศตุรกีเยอะมาก ทั้งบ้านเมืองและชีวิตด้วย ซึ่งเราช่วยเต็มที่ ทั้งเรื่องอาหารการกินและสิ่งจำเป็นต่าง ๆ รวมถึงการช่วยส่งทีมจากประเทศไทยอย่าง ยูซ่า ที่ไปช่วยร่วมกู้วิกฤตด้วย เราจัดรถและจัดอาหารให้ ในแง่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
ผมประเมินว่าหลายปีกว่าตุรกีจะฟื้น CPF ไปลงทุนที่นั่นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมองโอกาสในการขยายการค้าเข้าไปทำตลาดในยุโรป เลยลงทุนต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ขณะที่การลงทุนในรัสเซียเพิ่งเข้าไปประมาณ 10 ปี

❇️ ความท้าทายท่ามกลางสงคราม

อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครนปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาธัญพืชทั่วโลกปรับขึ้นไปสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งข้าวโพด-ข้าวสาลี-ถั่วเหลือง ซึ่งถือเป็นธัญพืชหลักในหมวดคาร์โบไฮเดรต อย่างเวลาผลิต “อาหารสัตว์” ก็จะใช้ข้าวโพด-ข้าวสาลีเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวโพด ทั้งหมดขึ้นสูงเป็นประวัติศาสตร์
ผมคิดว่าถึงวันนี้ก็ยังวิกฤตพอสมควร เพราะราคายังอยู่ในเพดานสูง ทำให้ต้นทุนแพงขึ้นทั้งหมด ผมหวังว่าในครึ่งปีหลังราคาธัญพืชหลักจะถูกลงได้หรือไม่ ประเด็นนี้ยังต้องติดตามดูสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อไป
สถานการณ์การผลิตในปีนี้ ประสบภาวะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” กก.ละ 14 บาท และยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมการผลิต เช่น เกิดโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้ต้องทำลายพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนไข่ไก่ขึ้นมาอีก ล่าสุด ไต้หวันเริ่มขาดแคลนไข่ไก่หนักมาก จนทางรัฐบาลประสานมา ขอให้ไทยช่วยส่งไข่ไก่ไปให้
“ไต้หวันขอไข่ไก่ 3 ล้านฟอง ผ่านภาคธุรกิจ โดย บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ติดต่อมา ขณะที่สถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในไทย ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะปกติ เพราะไทยมีการวางแผนดูแลจำนวนพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในแต่ละปี เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการบริโภค จึงไม่ประสบปัญหาขาคแคลน”
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 นายอดิเรก มองว่า ภาคท่องเที่ยวเปิดก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ จะทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น แต่ด้านส่งออกในไตรมาส 4/2565 ยังติดลบ ทำให้จบปี 2565 ติดลบไป 10% ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวถือเป็น 2 เครื่องยนต์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเท่าที่สังเกตกำลังซื้อยังไม่คึกคักนัก
“นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว ก็ต้องพึ่งการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน แต่จะลงทุนได้เยอะหรือไม่ก็คงต้องรอดูรัฐบาลใหม่ ผมเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ก็ต้องพยายามสร้างผลงาน จึงอยากให้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงเสร็จ แล้วก็ขอให้มีการจัดตั้งรัฐบาล”

❇️ CPF ยังขยายลงทุนต่อ

ในปี 2566 CPF ยังแสวงหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังการประชุม APEC สิ้นสุดลง เราได้รับเกียรติจาก ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งนายกรัฐมนตรี และ รมต.เกษตร มาเยี่ยมและเชิญชวน C.P. ให้เข้าไปขยายการลงทุนในธุรกิจเลี้ยงกุ้ง
เพราะฟิลิปปินส์มีพื้นที่ติดกับทะเล และมีเกาะจำนวน 7,000 กว่าเกาะ เป็นแหล่งที่เหมาะสมในการลงทุนผลิตกุ้งได้ดีที่สุดในโลก จึงอยากให้บริษัทไปขยายการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้ง เหมือนกับที่ CPF เข้าไปดำเนินกิจการในหลายประเทศ
เรื่องหมูก็เช่นกัน ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศเดียวในแถบนี้ที่ไม่มี โรคปากและเท้าเปื่อย (foot and mouth disease) ทำให้ส่งออกได้ดี รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงขอให้บริษัทเข้าไปช่วยขยายการลงทุน ซึ่งเราเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์มา 10 กว่าปีแล้ว
นอกจากนี้ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร CPF ยังอยู่ระหว่างเดินทางไปเจรจากับญี่ปุ่น เกี่ยวกับการลงทุนผลิตหมูแปรรูปปรุงสุกส่งเข้าญี่ปุ่นด้วย ถือเป็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งออก

❇️ “ซาอุฯ” จะเป็นฐานผลิตในตะวันออกกลาง

ด้านตลาดตะวันออกกลาง CPF สนใจที่จะเข้าไปลงทุนในซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากรัฐบาลซาอุฯ ให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดย CPF ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง-โรงงานอาหารกุ้ง รวมไปถึงการผลิตลูกกุ้งด้วย
“ซาอุฯ ยังเชิญชวนเราให้เข้าไปลงทุนเรื่องไก่ และทำอาหารมุสลิม เพราะอยากให้มีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดูไบ การลงทุนในซาอุฯ ก็ต้องดูให้ชัดเจนรอบด้านว่า เมื่อผลิตแล้วจะขายที่ไหน ต้นทุนการผลิตจะสามารถแข่งกับประเทศอื่น ๆ ได้หรือไม่ มีวัตถุดิบเพียงพอไหม ถ้าไม่มีจะนำเข้าจากที่ไหน หากได้ข้อสรุป ที่ซาอุฯ ก็จะกลายเป็นฐานผลิตแรกของเราในกลุ่มประเทศอาหรับ”

❇️ ภาพธุรกิจในจีน

ภาครวมธุรกิจในจีนยังต้องรอดูทิศทางนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งช่วงก่อนโควิด-19 และระหว่างโควิดมีความแตกต่างกันพอสมควร แต่หากเรามองย้อนหลังกลับไป เศรษฐกิจจีนหลังจากเปิดประเทศที่ C.P. ได้เข้าไปลงทุนโปรเจ็กต์แรกปี 1989-1990 ได้ไลเซนส์รายแรก
จนถึงตอนนี้ปี 2023 ผ่านมา 30 ปีแล้ว จีนพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างมาก จากที่มีรายได้ GDP ต่อหัวไม่สูงเท่าไทย จนถึงตอนนี้จีนแซงไทยแล้ว ตอนนี้ต้องมาดูว่าเมื่อเปิดเสรีให้คนมาลงทุนแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากเปิดประเทศของจีน
“อย่างแจ็ก หม่า ที่เพิ่งมาพบกับผู้บริหาร C.P. ก็มีความสนใจด้านการเกษตร ภาคเกษตรของจีนยังพัฒนาได้อีกเยอะ โดยแจ็ก หม่า มองถึงเรื่องการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพราะเขาเก่งเรื่องซอฟต์แวร์ สมาร์ทฟาร์มเมอร์ หากเอาความเก่งไปช่วยภาคเกษตรก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี” คุณอดิเรก กล่าว
Cr. ประชาชาติธุรกิจ