CPF ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ “ครัวของโลก” ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน

CPF ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อน STEAM ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน งาน Thailand CE Ecosystem-Business Leadership & Partnership Summit 2021 ในหัวข้อ Thailand CE Ecosystem – Business Leadership (Closed-loop, Zero Waste and Business Model) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยการใช้ซ้ำ (reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (upcyclable) หรือย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อผนึกกำลังกันลดภาวะโลกร้อน
ในงานนี้ คุณศิรภัสสร สกุลวิวรรธน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน CPF เป็นตัวแทนบริษัทฯ นำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตลอดห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมอาหาร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลกที่ยั่งยืน” ว่า CPF กำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่า คงอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความรับผิดชอบครอบคลุม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Zero Waste & Zero Food waste to landfill ในปี 2030
จากเป้าหมายดังกล่าว CPF นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นแนวทางในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำ ตั้งแต่อาหารสัตว์ (feed) ฟาร์มปศุสัตว์ (feed) อาหาร (food) เพื่อสนับสนุนการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรการผลิต ปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรอง “ฉลากลดโลกร้อน” และ “ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และ Water Footprint Label ในสินค้าปศุสัตว์ อาหารสัตว์ ไก่สด อกไก่นุ่ม ผลิตภัณฑ์เป็ดสด และเป็ดปรุงสุกแช่แข็ง รวม 770 รายการ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดขยะพลาสติกและขยะอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของภาวะโลกร้อน รวมถึงการแยกประเภทขยะเพื่อนำไปจัดการอย่างเหมาะสม
อีกตัวอย่างความสำเร็จของ CPF ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปบริหารจัดการในฟาร์มปศุสัตว์ เช่น การนำน้ำใช้แล้วในธุรกิจสุกรไปทำไบโอแก๊ส และนำน้ำหลังจากทำไบโอแก๊ส ไปผ่านการบำบัดจนได้ค่ามาตรฐาน นำไปหมุนเวียนใช้ในฟาร์ม เช่น รดต้นไม้ และยังปล่อยเป็น “น้ำปุ๋ย” ให้กับเกษตรกรรอบๆ ฟาร์ม ขณะที่ ฟาร์มกุ้ง ได้นำระบบ bio-floc คือ การเติมจุลินทรีย์ลงไปในน้ำเพื่อขจัดของเสียและเทคโนโลยี ultra-filtration เพื่อใช้กรองน้ำ สามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้ลดการปล่อยน้ำออกสู่ธรรมชาติ (zero discharge)
การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทำให้ CPF ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 รวม 425,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 250 ล้านบาท ขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
ภายในงานยังมีตัวแทนจากบริษัทชั้นนำของไทย เช่น SCG, PTT GC, TU Group, Dairy Farm ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย
สำหรับ STEAM เป็นการรวมตัวทุกภาคส่วนโดยการนำของ King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT), Knowledge Exchange Center (KMUTT) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Program : UNDP) เพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน
Cr.PR CPF