CPF ร่วมแชร์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รับมือวิกฤตโลกร้อน

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดสัมมนา BULID FORWARD BETTER ในหัวข้อ Turning the Climate Crisis into Business Opportunities ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี ในฐานะนายกสมาคมฯ กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้นำระดับสูงของหน่วยงานระดับโลก อาทิ คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย คุณทอม มูดดี้ ผู้อำนวยการภูมิภาคด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงาน สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ สิงคโปร์ คุณมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา
คุณศุภชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเร่งด่วนระดับโลก ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มากที่สุด ทั้งปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง กระทบต่อระบบอาหาร การกัดเซาะชายฝั่งทะเล ฯลฯ พร้อมย้ำความมุ่งมั่นร่วมกันในการสรรหาเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ รวมถึงปลูกฝังผู้นำรุ่นใหม่ นำไปสู่แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในเวทีดังกล่าว ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ในหัวข้อ Turining the Climate Crisis into Business Opportunities ซึ่งมี คุณพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง และประธานคณะทำงาน Climate, Water & Waste Excellence หนึ่งในความมุ่งมั่นภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เป็นตัวแทนบริษัทฯ ร่วมเสวนากับ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และคุณเยนส์ หราดชินสกี้ หัวหน้าศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จาก UNFCCC
คุณพีรพงศ์ กล่าวว่า CPF เป็นผู้นำอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มีวิสัยทัศน์ชัดเจนที่จะเป็น “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน มีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ให้ความสำคัญกับการปกป้องความปลอดภัยของอาหาร ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดย บริษัทฯ ประกาศกลยุทธ์ “CPF 2030 Sustainability in Action” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเครือซีพีที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 ด้วยตระหนักดีว่า เรามีโลกเพียงใบเดียวกัน CPF จึงทำงานร่วมกับทุกบริษัททั่วโลก เพื่อช่วยกันควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ อาทิ พลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานชีวภาพ (Biogas) พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคาโรงงานและอาคารสำนักงาน (Solar Rooftop) และแบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 26% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ขณะเดียวกัน CPF ยังให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ซึ่งบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์กว่า 790 รายการได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากลดโลกร้อน การพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อม การวางแผนระบบโลจิสติกส์ การลดการสูญเสียอาหารส่วนเกิน และขยะอาหาร เป็นต้น
การสัมมนาดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อม ก่อนการประชุม COP26 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อร่วมหารือการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้นำจาก 196 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม รวมทั้งประเทศไทยด้วย
Cr.PR CPF