กระบวนการเลี้ยงสัตว์ปลอดภัยไม่มีโคลิสติน

โดย นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

จากกระแสข่าวพาดหัวเต็มหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางฉบับ เรื่อง การใช้ ยาโคลิสติน ในอาหารสัตว์และการใช้ยาเถื่อน อาจสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ที่บริโภคเนื้อหมู ส่งผลให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมปศุสัตว์และ อย. ต่างออกมาให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ในฐานะสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านควบคุมการใช้ยาในสัตว์ของซีพีเอฟ ซึ่งรับประทานเนื้อสัตว์ภายใต้สัญลักษณ์ CPF มาโดยตลอด จึงขอแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตเนื้อสุกรของบริษัทมาเพื่อเป็นข้อมูล

ในระบบกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย (food safety) จะคำนึงถึงความปลอดภัยในอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงชำแหละ โรงแปรรูป กระทั่งจุดจำหน่ายที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิเนื้อสัตว์ เรียกว่าต้องติดตามตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มากันเลยทีเดียว

ในส่วนของฟาร์มสุกรของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นฟาร์มระบบปิดที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ทั้งหมด (รวมถึงฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพของบริษัทด้วย) จะเน้นใช้วิธี “ป้องกัน” และวางระบบการบริหารจัดการฟาร์ม ในระดับไบโอซีเคียวริตี้ ตลอดจนการให้วัคซีนแก่ลูกสุกรตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเป็นผู้กำหนด ปัญหาสัตว์ป่วยจึงเกิดขึ้นน้อยมาก การใช้ยาจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุในกรณีที่ลูกหมูป่วยแล้วเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตกค้างหรือส่งผลกระทบใดๆ ต่อการบริโภค

ก่อนส่งสุกรไปยังโรงชำแหละจะมีระยะหยุดยาเพื่อสัตวแพทย์ต้องมั่นใจว่าปราศจากสารตกค้างใดๆ และเมื่อไปถึงโรงชำแหละ สุกรจะถูกตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าต้องปลอดจากสารตกค้างจริงๆ จึงจะมีสิทธิเข้ารับการชำแหละได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความปลอดภัยสูง

เอาล่ะ..ตอนนี้มาทำความรู้จัก “โคลิสติน” กัน ยาตัวนี้เป็นยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้รักษาอาการท้องเสียในสัตว์ ที่ให้ผลดีมากตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเหมือน “ยาผีบอก” เลย ทีเดียว

ต่อมาในปี 2559 กรมปศุสัตว์ได้ออกบันทึกขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้ลดการใช้ยานี้ จากรายงานของต่างประเทศที่ว่า “ยาโคลิสตินสามารถก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง” ประกอบกับข้อมูลทางห้องแล็บก็พบว่าเชื้อที่เคยใช้ยานี้แล้วได้ผลดีนั้นก็มีอัตราการดื้อยาสูงขึ้น และยาโคลิสตินก็เป็นยาทางเลือกตัวสุดท้ายที่ใช้ในคนกรณีที่ใช้ยาอื่นๆ รักษาแล้วไม่ได้ผล

องค์กรที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก และมุ่งมั่นจะเป็นครัวของโลกอย่างซีพีเอฟ ซึ่งต้องการที่จะเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ที่ปลอดภัยต่อการบริโภคอย่างแท้จริง จึงกำหนดนโยบายยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินที่ผสมในอาหารสัตว์ มาตั้งแต่กลางปี 2559 และยกเลิกการใช้ยาโคลิสตินในรูปแบบยาฉีดและยาละลายน้ำเพื่อรักษาอาการท้องเสียในลูกหมูด้วย

ปกติแล้วการสั่งซื้อยาของบริษัทจะใช้ระบบการสั่งซื้อทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะมีรายการชื่อยาระบุไว้ ปัจจุบันบริษัทได้ทำการยกเลิกคำสั่งซื้อยาโคลิสตินในระบบการสั่งซื้อออกไปแล้ว

ขอย้ำว่าการใช้ยาในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มอย่างใกล้ชิด ให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิต และตามระเบียบของกรมปศุสัตว์

ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า “CPF ไม่มีการใช้ยาโคลิสตินผสมในอาหารสัตว์ และไม่มีการใช้ยาเถื่อน” รับประทานเนื้อหมูซีพีได้อย่างสบายใจครับ

ที่มา : มติชน