ผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเวที ASEAN-UK Race to Zero Dialogues แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทยและของภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวไปสู่การผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของเครือฯ ในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และบทบาทของภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเวทีเสวนาออนไลน์ “Transforming Agriculture and Land Use to Win the Race to Zero” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน ASEAN-UK Race to Zero Dialogues จัดโดย UK COP26 Presidency, UK-ASEAN Business Council และ ASEAN Business Advisory Council

คุณนพปฎล เดชอุดม เป็นตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนจากประเทศไทยเพียงรายเดียวในเวทีดังกล่าว ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหาร นักวิชาการ องค์กรชั้นนำอีก 4 คน ได้แก่ คุณคริสโตเฟอร์ สจ๊วต Global Head of Corporate Responsibility and Sustainability บริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทซื้อขายสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก นายดานุช ดิเนช Head of Partnerships and Outreach – CGIAR Research Program on Climate Change, Agriculture and Food Security ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรและอาหาร คุณอิเมลดา บาคุโด ที่ปรึกษาโครงการเครือข่ายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาเซียน (ASEAN Climate Resilience Network) เครือข่ายนักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน และคุณอเลกซานเดอร์ ไจลส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า Liberty Produce บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรจากประเทศอังกฤษ ดำเนินรายการโดยคุณอลิซาเบธ วอร์แฮม ผู้บริหารส่วนงานเทคโนโลยีการเกษตร กรมการค้าระหว่างประเทศ สหราชอาณาจักร

ผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงความท้าทายของโลกที่จะป้องกันมิให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเร่งมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คุณดานุช ดิเนช อธิบายหลักการพื้นฐานของการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในบริบทของภาคเกษตร รวมถึงการวัดผลและติดตาม คุณอิเมลดา บาคุโด บรรยายถึงความท้าทายและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน ด้านการลดผลกระทบจากภาคเกษตรต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คุณนพปฎล ยกตัวอย่างแนวทาง Climate Smart Agriculture การเกษตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการสูญเสีย (Productivity) การเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Resilience) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Mitigation) ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินการมาโดยตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทนจากระบบไบโอแก๊ส การพัฒนาอาหารสัตว์ที่ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนจากบรรยากาศ

คุณคริสโตเฟอร์ สจ๊วต Global Head of Corporate Responsibility and Sustainability บริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้กล่าวถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อการผลิตอาหารของโลก และแนวทางบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน ในขณะที่ นายอเลกซานเดอร์ ไจลส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า Liberty Produce ยกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ