เครือซีพี ชูยุทธ์ศาสตร์นำองค์กรมุ่งสู่ Carbon Neutral – NET ZERO ในงานสัมนา ZERO CARBON : วิกฤติ – โอกาสไทยในเวทีโลก 

เครือซีพี ร่วมเวทีสัมมนาZERO CARBON : วิกฤติ-โอกาสไทยในเวทีโลก เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชนแบ่งปันมุมมอง และแนวทางในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวน หรือ Climate Change อย่างยั่งยืน โดยมี คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Thailand’s Strategy : การค้าสู่ความยั่งยืนในเวทีโลก” โดยมี คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงวิสัยทัศน์ ร่วมกับ คุณเกรียงไกร  เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) คุณนาถฤดี  โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ คุณภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อZERO CARBON : วิกฤติ-โอกาสไทย” ซึ่งจัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม
โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ  โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

คุณสมเจตนา ภาสกานนท์  กล่าวว่า เครือซีพีตั้งเป้าหมายการเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือปี ค.ศ. 2030 โดยมีการดำเนินมาตการต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายองค์กรที่ไม่ปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ NET ZERO ตามแนวทางของ SBTi (Science Based Target initiative) ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือ ค.ศ. 2050

ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน เครือฯ กล่าวอีกว่า ปัญหาภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกษตรมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะการผันผวนของปริมาณวัตถุดิบภใช้ในการผลิต และยังส่งผลต่อราคา คุณภาพ เครือซีพีอยู่ในธุรกิจดังกล่าว จึงให้ความสำคัญและมุ่งมั่นกับการลดผลกระทบอย่างยั่งยืน รวมทั้งต้องปฎิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับ Carbon Neutral และ NET ZERO ปัจุบันมีการประกาศใช้แล้วใน 120 ประเทศและมีการปฏิบัติอย่างเข้มข้น ซึ่งซีพีมีธุรกิจกระจายในประเทศเหล่านี้จึงต้องเตรียมตัวในการที่จะปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศโปแลนด์มีการเก็บภาษีคาร์บอนไม่ถึง 1 ยูโรต่อตันคาร์บอน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่เครือซีพีจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกบริษัทในเครือฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มคู่ค้าทางธุรกิจ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบันการเครือซีพี อยู่ระหว่างดำเนินการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร และนำมาตรการต่าง ๆ เข้ามาดำเนินการรวมทั้งการแก้ไขเพื่อนำไปสู่เป้าหม่าย NET ZERO

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “Carbon War : จุดเปลี่ยนการค้า-ลงทุนโลก” กับมุมมองทางการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ โดยมี คุณโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต  กรมสรรพสามิต คุณนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)