“คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอ ซีพี ร่วมเวทีกมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ”  ระดมความเห็นร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ เสนอไอเดีย SI Model พลิกโฉมการศึกษาไทย สู่ยุค 5.0 พร้อมแนะ 6 ข้อสำคัญการศึกษาไทย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ” เพื่อระดมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางพัฒนาการศึกษาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ ทั้งปัจจุบันและในอนาคต เพื่อนำมากำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ก่อนรวบรวมข้อมูลเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมธิการการศึกษา ฯ ได้เชิญคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเวทีสัมมนากับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี  และพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โดยคุณณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีนักการศึกษาไทยจากทั่วประเทศเข้าร่วมฟังการสัมมนา ณ อาคารรัฐสภา กว่า 500 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการการศึกษา ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา คณะผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำท้องถิ่น ประชาชนและภาคเอกชน อาทิ คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ คุณโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  คุณคุณอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา คุณธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา คุณณหทัย ทิวไผ่งาม รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วทุกภูมิภาคทั้งหมด 5 เวที และการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นครั้งที่ 3

คุณโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า คณะกรรมาธิการศึกษาฯ เห็นถึงปัญหาวิกฤติการศึกษาของชาติ จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้ทัดเทียมนานานาชาติ จึงได้เชิญทั้ง 3 ท่าน มาร่วมฉายภาพให้คนในสังคมและรัฐบาลเห็นถึงปัญหาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยพระพรหมบัณฑิตในฐานะที่เป็นนักปราชญ์ของประเทศ ส่วนคุณอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตผู้บริหารระดับชาติที่บริหารประเทศและรับทราบถึงปัญหา และคุณศุภชัยซึ่งผู้เป็นบริหารองค์กรขนาดใหญ่ มีเน็ตเวิร์กทั่วโลก ต้องบริหารงานองค์กรโดยใช้คนจำนวนมากและต้องใช้คนที่มีความสามารถ ที่สำคัญยังได้ดำเนินโครงการปัญญาภิวัฒน์ทำเรื่องการศึกษาให้เยาวชน คณะกรรมาธิการฯ จึงมุ่งหวังนำข้อมูลที่ได้รับจากการสัมมนาวันนี้ไปทำงานต่อ

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนผ่านจาก 2.0 ไป 5.0  คือเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ครูยังเป็นศูนย์กลางความรู้ และให้คำสั่ง เปลี่ยนเป็น“ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน  อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ” ต้องสอนคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่ไปด้วย โดยครูต้องเป็นผู้สนับสนุนและลงมือทำร่วมกัน ดังนั้นทุกโรงเรียนควรปรับระบบการสอนให้เป็น Learning Center  เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ทั้งโลก  พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอกระบวนการปฏิรูปการศึกษา ด้วยโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หากกฎหมายทางการศึกษาฉบับใหม่นำ SI  Model ไปปรับใช้อาจจะทำให้สามารถเปลี่ยนระบบนิเวศของการศึกษาให้ทันยุคสมัยได้

5 เสาหลักของ SI Model ประกอบด้วย

  1. Transparency ความโปร่งใส ทุกโรงเรียนต้องมีรายงาน มีสมุดพกดิจิทัล ต้องมีตัวชี้วัด KPI ของโรงเรีย
    2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ต้องสร้างความเชื่อมโยงของโรงเรียนกับชุมชนและครอบครัวให้มีส่วนร่วมพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วง Primetime โดยให้ Incentive เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ สื่อ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม
    3. Leadership &Talents สร้างผู้นำและครู/บุคลากรทางการศึกษาที่มีทักษะ 5.0 และเสนอว่าควรไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ และต้องสร้างครูให้เป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้
  2. Child Centric/Empowerment เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ให้อำนาจตัดสินใจ
  3. Technology ควรมีการปรับสอนให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

ส่วนข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนการศึกษา ที่คุณศุภชัยเสนอ มี 6 ข้อ ประกอบด้วย

  1. วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ควรเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร
  2. เด็กทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์สะอาด
  3. ทุกโรงเรียนมี Learning Center ภายในปี 2025
  4. มี Incentive Content ในช่วง Prime Time
  5. 3,000,000 คนเป็นผู้มีทักษะดิจิทัลขั้นสูงภายในปี 2028
  6. 20,000 Startups ภายในปี 2027

ขณะที่คุณอภิสิทธิ์ ได้พูดถึงร่าง พ.ร.บ.การศึกษา โดยเห็นว่า หลักการของกฎหมายการศึกษามี 3 ประเด็น คือ การศึกษาเรื่องของทุกคน ทุกคนมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษา และการศึกษาที่ดีต้องสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างคนให้มีความสุขและทำให้สังคมดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาที่การพัฒนาการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไปเสียเวลากับเรื่องของโครงสร้างทำให้หลายเรื่องไม่บรรลุเป้าหมาย และยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ดังนั้นกฎหมายทางการศึกษาจะต้องมี 4 เรื่องหลัก คือ ความชัดเจนในสิทธิของเด็ก ผู้ปกครอง ครอบครัวกับหน้าที่ของรัฐในการจัดสรรทรัพยากรโดยคำนึงถึงความเสมอภาค  ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในกฎหมายจะต้องเขียนให้ชัดว่ารัฐจะให้สิทธิและแรงจูงใจอย่างไรในการช่วยส่งเสริมการศึกษาและต้องมีการพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ พัฒนาหลักสูตร พร้อมทั้งฝึกครู ผลิตครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และปรับโครงสร้างการจัดการระบบการศึกษาและระบบการประเมิน

พระพรหมบัณฑิต ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า การศึกษาต้องสร้างสมรรถนะให้กับผู้เรียน ต้องสอนให้เด็กสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยมีทักษาด้านภาษาเพิ่มเติม และจำเป็นต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม อย่างไรก็ตาม การจะสอนให้เด็กมีสมรรถนะ สิ่งสำคัญคือครูต้องได้รับการฝึกและพัฒนาให้มีสมรรถนะและคิดให้เป็น เพื่อนำมาพัฒนาสอนให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผลด้วย

การสัมมนาเรื่อง “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ประเทศ” ณ อาคารรัฐสภา ในช่วงบ่ายยังได้เปิดให้มีการอภิปรายเพื่อรับความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาต่อ โดยมีเข้าร่วมแสดงคิดเห็นบนเวทีสัมมนา อาทิ คุณเทอดชาติ ชัยพงษ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมธิการคนที่สอง  คุณปรีดา บุญเพลิง กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมธิการ คุณปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการ และคุณณรงค์ แผ้วพลสง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ  ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะได้รับความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของทิศทางในการพัฒนาการศึกษาที่จะนำมากำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้จากข้อคิดเห็นที่หลากหลายส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป