เครือซีพียกระดับเกษตรกรบ้านสบขุ่น จ.น่าน เปลี่ยนวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การปลูกกาเเฟ สร้างป่า สร้างรายได้

คุณดี จันธิมา หรือ แม่ดี เป็นหนึ่งในเกษตรที่เข้าร่วมโครงการสบขุ่นโมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างราย ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี กล่าวว่า

“…แต่ก่อนต้องไปรับจ้าง เดี๋ยวนี้ถ้าเขาไม่มาจ้างแม่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีเงิน เข้ามาเก็บกาแฟก็ได้เงินไม่ต้องตากแดดร้อนเหมือนแต่ก่อน ไม่ได้เห็นป่ามานาน พอได้เห็นป่ากลับมาก็รู้สึกชื่นใจ มีความสุขค่ะ…”

แม่ดีบอกเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า “ตอนแรกตนไม่เข้าใจการปลูกกาแฟ คิดว่ายาก ปีแรกที่รับสมัครเลยยังไม่ได้เข้าร่วม แต่มีความสนใจเลยคอยสอบถาม และติดตามดูเกษตรกรคนอื่นที่เขาปลูกก่อน พอเริ่มเข้าใจและเห็นผลลัพธ์ ตนเลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นที่ 2”

เมื่อถามถึงความยากลำบากในการปลูกกาแฟ แม่ดีกล่าวว่า “ไม่ยากอย่างที่คิด” เพราะมี อสพ. คอยมาให้ความรู้และเข้าร่วมการอบรมตลอด เขาให้ลองทำแบบไหนเราก็ลองทำดู ลองสู้ดูสักครั้ง เพราะคิดว่ามันต้องดีกว่าการปลูกข้าวโพดแน่นอน

ตั้งแต่วันนั้น เวลาผ่านไปความตั้งใจที่ใช้ทั้งแรงกายแรงใจ ก็เกิดผลสำเร็จ ปัจจุบันแม่ดีปลูกกาแฟจำนวน 7 ไร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นคืนพื้นที่สีเขียวให้กับหมู่บ้านสบขุ่น อีกทั้งยังสร้างความร่มรื่น และบรรยากาศที่ดีในการทำงานให้กับตัวเองอีกด้วย โดยแม่ดีบอกว่ารู้สึกสดชื่น และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เดินเข้าสวน และเห็นพื้นที่ป่าค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

การปลูกกาแฟทำให้แม่ดีมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ไม่ต้องตรากตรำทำสวนกลางแดด และไม่ต้องคอยไปรับจ้างคนอื่น มีอิสระให้ตนเอง อยากพักผ่อนก็ได้พัก อยากเข้ามาทำสวนก็มา ไม่ต้องคอยกังวลหางานรับจ้างในทุก ๆ วัน

แม่ดีเป็นเกษตรอีกคนนึงในโครงการสบขุ่นโมเดล กาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ ที่มีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และค่อยๆ ขยับ ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรของตนจากข้าวโพดมาเป็นการปลูกกาแฟ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนและสังคม พร้อมกับตระหนักได้ว่าพื้นที่ป่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญ อันควรค่าแก่การอนุรักษ์และฟื้นฟูรักษาเพื่อลูกหลานคนไทยต่อไป

ภายใต้การสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โครงการสบขุ่นโมเดล จ.น่าน ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ ที่ได้เข้าไปขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกิดการต่อยอดพัฒนาไปสู่การเป็น Social Enterprise รวมไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา เด็กและเยาวชน ชุมชนและสังคมอีกด้วย เพื่อให้คนในชุมชนอยู่ได้กับป่าอย่างแท้จริง และกลายเป็นชุมชนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต