กลต. จับมือ UNDP และ GCNT เปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” ฉบับแรกของไทยและอาเซียน ประสานเสียงมั่นใจ คู่มือฯ เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง สนับสนุนบทบาทภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนประเทศไทย สู่การบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals ภายในค.ศ. 2030 ซีอีโอ เครือซีพี ในฐานะนายกฯ GCNT ภูมิใจทำสำเร็จ หลังรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนทั้งไทยและทั่วโลกจัดทำและเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะ

27 ตุลาคม 2566 –  สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) จัดงานเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” โดยได้รับเกียรติจาก คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วย Ms. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย  พร้อมด้วย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดยมีผู้นำจากภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชนชั้นนำจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1-2 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ในการนี้ ทุกภาคส่วนประสานเสียงเห็นพ้องกันว่า คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทยและอาเซียน จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals ภายในค.ศ. 2030  ​ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​มาก​ยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการวัดและบริหารจัดการผลกระทบด้านความยั่งยืนที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบรายงานประจำปี หรือ 56-1 One report โดยเป็นการขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียนผนวกการรายงานด้านความยั่งยืนไว้อย่างเป็นระบบ  ภายใต้กติกาใหม่ของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและแนวโน้มการตลาดโลก ที่ให้ความสำคัญกับการให้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามแนวปฏิบัติสากล ซึ่งเป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งกล่าวว่า การจัดทำคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการ ทั้งในภาคการผลิต การบริการ พลังงาน การเกษตร และตลาดทุน เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ให้กับภาคธุรกิจและประเทศไทยภายใต้บรรทัดฐานใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง

สำหรับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เครือซีพี ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT)  เปิดเผยว่า ตนเองได้พยายามรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนที่ไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่รวมถึงทุกประเทศทั่วโลก จัดทำและเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะ โดยรณรงค์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมฯ หรือประมาณเกือบสิบปีก่อนบนเวทีความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศไทย และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น UN หรือ World Economic Forum  ด้วยความเชื่อมั่นว่ารายงานความยั่งยืนจะเป็นเสาหลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลง  เพราะการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นเนื้อเดียวกันในการดำเนินธุรกิจ ถือเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสของการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้น การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จะนำไปสู่การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานปีต่อปี ทั้งของตัวเองและกับผู้อื่น ซึ่งก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การตรวจสอบติดตามผล ลดความเสี่ยงของ Green Washing และสุดท้ายนั้นกลไกของความโปร่งใสจะก่อให้เกิดการแข่งขันกันทำความดี หรือ “Race to the Top” อีกด้วย

“จากรายงานของ UNDP ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าภาคภูมิใจว่า ร้อยละ 81 ของบริษัทจดทะเบียนไทย 100 อันดับแรก ได้เชื่อมโยงการประกอบธุรกิจเข้ากับเป้าหมาย SDGs แล้ว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยคู่มือที่เปิดตัวในวันนี้จะช่วยบริษัทต่อยอดจากการคำนึงถึงเพียงหลัก ESG ที่มุ่งเน้นการลดความเสี่ยง ให้คำนึงถึง SDGs ซึ่งนำการทำประโยชน์ต่อส่วนรวมมาประกอบการพิจารณาด้วย ดังนั้นข้อมูลที่เกิดจากรายงานเหล่านี้จึงมีค่ามหาศาล หากประเทศไทยนำข้อมูลดังกล่าวจากภาคเอกชน มาวิเคราะห์เพื่อประกอบการวางนโยบาย จะช่วยให้ไทยมีโอกาสบรรลุ SDGs ได้ภายในค.ศ. 2030 ขณะเดียวกันการใช้คู่มือนี้เพื่อจัดทำรายงาน ไม่ควรจำกัดเพียงแค่บริษัทจดทะเบียนเท่านั้น แต่ควรขยายถึงบริษัทไม่จดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทใน supply chain เพื่อให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก สามารถใช้ประโยชน์จากคู่มือได้ด้วย”

ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เตรียมเผยแพร่คู่มือฉบับนี้แก่สมาชิกของเครือข่าย UN Global Compact ระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 20,000 องค์กรธุรกิจ จาก 160 ประเทศทั่วโลก ในการประชุมประจำปี GCNT Forum ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติในเดือนพฤศจิกายน