“ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอเครือซีพี เสนอโมเดล SI – Sustainable Intelligence พลิกโฉมการศึกษาไทยจาก 2.0 เป็น 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์-สร้างการเรียนรู้แบบ Learning Center -เน้นทักษะดิจิทัลขั้นสูง มุ่งทรานส์ฟอร์มประเทศรับความท้าทายในอนาคต

23 พฤศจิกายน 2566 – คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่อง The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND รวมผู้นำระดับโลกและไทยจากทุกภาคส่วน จัดโดยสำนักข่าว THE STANDARD ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  กรุงเทพฯ

คุณศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 – 2030 พร้อมกล่าวว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน เราต้องปรับตัวให้ทันและต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น  เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0  ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ แต่ตอนนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยีเอไอและกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ แต่ทั้งนี้เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ซีอีโอเครือซีพี ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่างๆ ในอนาคต ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็นโค้ชหรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็นนักค้นคว้ามีกรอบความคิดใหม่และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น  Learning Center

พร้อมเสนอโมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย 1.Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล  2. Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม 3. Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0 4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ  และ 5. Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตพร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพและดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรมโดยเน้นย้ำว่าเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดและต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชันถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทันซีอีโอเครือซีพี กล่าวปิดท้าย

หลังจากนั้น นายศุภชัยได้เยี่ยมชมบูธ CP SEEDING SOCIAL IMPACT ที่จัดขึ้นในงานนี้ด้วย ภายในบูธนำเสนอความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงนายศุภชัยจากนโยบายให้กลุ่มธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของเครือซีพีอย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น แม็คโคร และโลตัส ผลักดันส่งเสริม SME และเกษตรกรไทยผ่านโครงการแพลตฟอร์มแห่งโอกาสเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจของเครือฯ ปัจจุบันเครือฯ ได้สนับสนุนเกษตรกรมากว่า 1 ล้านราย และผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 8.9 แสนคนด้วยการส่งเสริมความรู้ความสามารถและการสนับสนุนในด้านต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกได้