เครือซีพี ผนึกกำลัง มูลนิธิปิดทองหลังพระ ยกระดับโครงการปลูกผักในโรงเรือนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พื้นที่บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี มุ่งสู่การเป็น Veggie Hub

ปี 2562 เกิดปัญหาภัยแล้งในเขตพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรของชาวบ้าน นำไปสู่การดำเนินโครงการปลูกผักในโรงเรือน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง นำโดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมุ่งแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดย เครือซีพีได้เข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดโครงการทั้งมิติงานพัฒนาชุมชน การขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และเชื่อมโยงผลผลิตคุณภาพสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 26 ราย มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกจากในโรงเรือนสู่พื้นที่นอกโรงเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่าสองล้านบาท

คุณสุภาวดี ปั้นสง่า คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จ.อุดรธานี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ตนเองและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้จากการขายผักมาจุนเจือครอบครัว ได้รับองค์ความรู้และทักษะด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สำหรับเป้าหมายปี 2566 นี้ มุ่งสู่การเป็น Veggie Hub เชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรนั้น คุณศิริรักษ์ แก้วมูลมุข ผู้จัดการแผนกพัฒนาชุมชน ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “แนวคิด Veggie Hub เกิดจากความต้องการผักปลอดสารพิษมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งมองเห็นศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่เดิมและพื้นที่รอบนอก คือ ตำบลอูบมุง และตำบลกุดหมากไฟ เดิมทีเกษตรกรมีการปลูกผักอยู่ก่อนแล้ว จึงมองเห็นโอกาสในการขยายพื้นที่เพาะปลูก เกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกร มีการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ ซึ่งแนวคิดนี้ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกผักบ้านโคกล่ามฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) รับซื้อผักคุณภาพเพื่อกระจายสู่ Makro ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ”

มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และเครือซีพีมีการผลักดันโครงการฯ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับการเพาะปลูกแบบเดิม เกิดการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบดั้งเดิมสู่วิธีใหม่ ทำน้อยได้มาก ชุมชนมีความรู้ มีทักษะด้านการบริหารจัดการกลุ่ม เข้าใจระบบบัญชีการเงินมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน นำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการฯ ที่สร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

#มูลนิธิปิดทองหลังพระ #ซีพีร้อยเรียงความดี #บ้านโคกล่ามแสงอร่าม #ศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #ธุรกิจเพื่อสังคม#วิสาหกิจชุมชน