เครือซีพีร่วมลงนามออนไลน์ เครือข่าย ‘Carbon Markets Club’ ครั้งแรกในเมืองไทย สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองสิทธิการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัล เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก

วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย คุณนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร ร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตร 11 องค์กรก่อตั้ง Carbon Markets Club และได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในรูปแบบออนไลน์ในการสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ครั้งแรกในเมืองไทย และใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดิจิทัลเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  ซึ่งริเริ่มและจัดโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ช่วยสร้างแรงจูงใจในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยกันลดภาวะโลกร้อน

สมาชิกเครือข่ายตั้งต้น Carbon Markets Club  เกิดจากการรวมตัวกันขององค์กรพันธมิตร 11 องค์กรแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่  บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ เครือข่าย Carbon Markets Club จะช่วยกันสนับสนุน เผยแพร่ ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการทำธุรกิจ ทั้งคาร์บอนเครดิตในระบบ T-VER โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งการซื้อขายปัจจุบันเป็นการซื้อขายกันโดยตรง (over the counter) และได้มีการพัฒนาการไปสู่ platform ในระบบดิจิทัลเพื่อความรวดเร็วและทันสมัย รองรับตั้งแต่การทำ e-registration ของหน่วยงานผู้ขึ้นทะเบียนและให้การรับรอง ไปจนถึงการทำ e-carbon trading และยังได้นำ blockchain มาใช้ในการซื้อขายสู่การทำธุรกรรมทางการเงินแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า DeFi หรือ decentralized finance

ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 เครือซีพี ได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)  ภายในปี พ.ศ. 2573 และได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “Race to Zero” ในปี พ.ศ. 2563 ผ่านโครงการ Business Ambition for 1.5oC และแสดงความมุ่งมั่นในการกำหนดเป้าหมายระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ตลอด Value Chain ภายในปี พ.ศ. 2593 ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามเกณฑ์และข้อแนะนำของ Science Based Targets Initiative

โดย ณ สิ้นปี พ.ศ. 2563 เครือฯ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ลงได้ 8.5% เมื่อเทียบกับปีฐาน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 10% จึงแสดงความรับผิดชอบด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตที่ผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (T-VER) เป็นจำนวน 45,665 ตัน CO2e มาชดเชยส่วนที่ขาดไป

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการซื้อขายคาร์บอนรวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) ซึ่งเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 298,140 ต้นหรือ 1,491 ไร่ ซึ่งผู้ขายคาร์บอนเครดิตคือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และผู้ขายเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยจะนำรายได้จากการจำหน่ายไปทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป พร้อมกันนี้ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเล คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และคุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรและผู้ผลิตสื่อ #beartai  ได้ร่วมซื้อคาร์บอนแบบบุคคล เพื่อเป็นการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองอีกด้วย