เรียนรู้การปั้นผู้นำของเครือ CP ผ่านโครงการเถ้าแก่น้อย: เรียนให้รอบด้าน รู้ให้ลึก ทำได้จริง

สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPLI: CP Leadership Institute)

ปัจจัยที่เป็นกลไกสำคัญทำให้องค์กรเดินหน้าทำธุรกิจได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่อง “คน” เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะคนคือ ทรัพยากรหลักที่ทำให้องค์กรก้าวหน้าต่อไปได้ การปั้นคนให้กลายเป็นผู้นำจึงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

ทำความรู้จัก CPLI สถาบันพัฒนาผู้นำระดับโลก

CPLI หรือ CP Leadership Institute คือ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่สร้างและพัฒนาผู้นำทุกระดับในเครือ ตั้งแต่ผู้นำรุ่นใหม่ในระดับ เถ้าแก่น้อย เถ้าแก่เล็ก เถ้าแก่กลาง และเถ้าแก่ใหญ่ หลักสูตรเถ้าแก่น้อย หรือหลักสูตรพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคต (CP Future Leaders Development Program: CP FLP) มีเป้าหมายเพื่อเฟ้นหาและพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่เพื่ออนาคตของเครือฯ

คุณแคท กนิษฐา กาญจนหฤทัย Department Manager, Program Design, CPLI เล่าถึงที่มาของสถาบันผู้นำและหลักสูตร FLP ว่าในสมัยก่อน ท่านประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ไปดูงานต่างประเทศ พบว่า บริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ บริษัท GE หรือ General Electric หรือบริษัท Boeing ล้วนมีโรงเรียนสอนผู้นำของตัวเองและใช้ผู้นำสอนผู้นำด้วยกันเองทั้งนั้น เมื่อท่านกลับไทยจึงมีดำริให้ก่อตั้งสถาบันผู้นำขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำของเครือ รวมทั้งขับเคลื่อนธุรกิจให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนต่อไป

โครงการเถ้าแก่น้อย ถือเป็นประตูด่านแรกของการเข้าสู่การเป็น CEO ของบริษัทในเครือฯ เป็นโครงการที่จะสร้าง CEO ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี วัตถุประสงค์แรกก็เพื่อคัดว่าใครจะเป็นผู้นำได้บ้าง ในแต่ละปี จะมี 2 รุ่น รุ่นละ 6 เดือน ผู้เรียนประมาณ 500 คน หลักสูตรนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเรียนผ่านได้ มีทั้งคนที่เรียนผ่านและไม่ผ่าน ทางเครือฯ จะให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยของผู้นำในอนาคตเป็นอย่างมาก

ลักษณะของผู้นำเครือฯ คือต้องเป็นผู้นำที่มีความเป็นเถ้าแก่ และมีวินัย แม้ฝีมือแต่ไม่มีวินัยและไม่เป็นคนดีก็อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้คนรุ่นหลัง  หลักสูตรสร้างผู้นำตั้งชื่อว่า “เถ้าแก่น้อย” เพราะเถ้าแก่คนหนึ่งจะเริ่มกิจการ ก็เริ่มจากมีความรู้และทำเองได้ในทุกๆเรื่อง เถ้าแก่น้อยในโครงการจึงต้องรู้รอบ ทั้งด้านการขาย การซื้อ การตลาด การผลิต การบริหารคน การประชาสัมพันธ์ การจัดส่งสินค้าทุกมิติ

คุณกนิษฐา กาญจนหฤทัย Department Manager, Prgram Design, CPLI

โครงการเถ้าแก่น้อยเน้นใช้หลักการ Action-Learning โดยวันแรกที่เริ่มเข้ามาเรียนในหลักสูตรก็ลงสนามทำงานได้เลย ไม่ใช่การนั่งเรียนแบบนั่งฟังการบรรยายในห้องเรียน แต่เป็นการลงสนามเรียนรู้จริงตลอดระยะเวลา 6 เดือน ยกตัวอย่างเถ้าแก่น้อย ในทีมผนึกกำลังสามประสาน คือการได้เรียนรู้แนวทางการทำงานแบบผนึกกำลังกับกลุ่มธุรกิจ ทั้ง CPF, CP All และ True คือ 3 ธุรกิจใหญ่ของเครือ เช่น ทำอยู่ในส่วนของหน้าร้าน 7-Eleven ทำอยู่ใน CP Freshmart และทำอยู่ใน True Shop

ในระยะเวลา 6 เดือนจะมีการรายงานทุกๆ 2 สัปดาห์ที่สถาบันผู้นำ โดยน้องรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้แล้วได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจในใดก็ตาม จะได้รับรู้ธุรกิจของเพื่อนร่วมรุ่นด้วย เช่น เพื่อนที่เรียนรู้ธุรกิจข้าวโพด ก็จะได้แบ่งปันความรู้ร่วมกัน วิธีการเรียนรู้คือการเรียนรู้จากการลงมือทำจริง เช่น น้องๆในหนึ่งทีมดูแลร้าน 7-Eleven หนึ่งสาขา เทียบเท่ากับเป็นเจ้าของร้าน ต้องดูแลผลกำไร-ขาดทุน สามารถตัดสินใจหน้างานได้ มีความรับผิดชอบ 100%

คุณกนิษฐา เล่าต่อว่า ผู้ที่สามารถเข้าเรียนหลักสูตรเถ้าแก่น้อย มีทั้งนักศึกษาจบใหม่ทุกแขนงและคนที่โดดเด่นในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่อายุไม่เกิน 26 ปี ต้องเป็นผู้ที่มีประวัติเป็นผู้นำในช่วงที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยหรือทำกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นผู้นำโดดเด่น ทั้งนี้การรับนักศึกษาจบใหม่ในแต่ละรุ่นอาจจะมีธีมแตกต่างกันในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของเครือในปีนั้นๆ

“ฟีดแบคจากผู้เรียน ทุกคนคาดไม่ถึงว่าจะได้เรียนและได้ลงมือทำจริงขนาดนี้ ภายใต้ชื่อโครงการ Future Leaders Development Program หลายคนก่อนที่เข้ามาเรียนอาจมองว่าเป็นงานสบาย ใส่สูท ผูกไทด์ คิดกลยุทธ์อยู่ในห้องแอร์ แต่ในความเป็นจริงเมื่อคิดกลยุทธ์ คิดแผนแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จเองด้วย เช่น คิดว่าจะขายสินค้า ก็ต้องลงมาขายเองในตอนตี 4 ที่ตลาดด้วย ตลอดระยะเวลาหลักสูตร 6 เดือน จะมีการจัดรายงานผลทุก 2 สัปดาห์ จะเป็นการรายงานผลตรงต่อประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของเครือด้วย การรายงานผลหลักๆคือ เถ้าแก่น้อยมารายงานถึงผลประกอบการ ปัญหาที่พบเจอ ข้อเสนอแนะ ทีเด็ดของทีมงาน หรือการสนับสนุนที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ทั้งเครือ”

โดยบรรดา Commentator หรือผู้ที่ให้ความคิดเห็นหลักในการรายงานผลนี้ ประกอบด้วย ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ (ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์), ดร. อาชว์ เตาลานนท์ (รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์), ดร. นริศ ธรรมเกื้อกูล (ที่ปรึกษาประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์), คุณสรรเสริญ สมัยสุต (ประธานสำนักพัฒนาธุรกิจ เครือเจริญโภคภัณฑ์ สำนักประธานอาวุโส)

คุณแชมป์ นรากร ปัญญาวรวุฒิ ผู้อบรมหลักสูตร FLP รุ่นที่ 8 เล่าว่า ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ คณะศิลปศาสตร์ สาขารัสเซียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียนวิชาการเมืองระหว่างประเทศ และได้เรียนธุรกิจระหว่างประเทศ โดยได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย พบว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนในรัสเซียตั้งแต่ยังไม่มีความเจริญมากนัก จึงรู้สึกสนใจที่บริษัทนี้มองการณ์ไกล เพราะรัสเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเกษตรกรรมแต่เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำทั้งเทคโนโลยี ความรู้เข้าไปพัฒนา และสามารถสร้างชื่อเสียงที่เป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัสเซียได้

เรื่องราวดังกล่าวช่วยจุดประกายในใจของแชมป์ว่า ถ้ามีโอกาสก็มุ่งหวังจะทำงานในด้านธุรกิจกับเครือซีพี เพราะต้องการเรียนรู้ความคิดและวิสัยทัศน์ที่ล้ำหน้านี้ว่า มีวิธีคิด มีกระบวนการทำงานอย่างไร และเมื่อได้เข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาผู้นำของเครือซีพี ยิ่งน่าสนใจว่าบทบาทของผู้นำอย่าง คำว่า “เถ้าแก่” จากโครงการ FLP สะท้อนให้เห็นว่าเราจะได้เรียนรู้การทำงานที่มีความรับผิดชอบเยอะ ทั้งเรื่องคน กำไร ความสัมพันธ์ และลูกค้าในหลายมิติ

คุณนรากร ปัญญาวรวุฒิ ผู้อบรมหลักสูตร FLP รุ่นที่ 8

หลังจากที่เรียนจบโครงการเถ้าแก่น้อยในรุ่นที่ 8 แล้ว แชมป์เล่าว่า เหมือนเครื่องเล่นในสวนสนุก เครื่องเล่นไวกิ้ง เวลาเราขึ้นไปอยู่จุดที่สูงสุด เราจะเห็นภาพหมดเลย พอเราลงด้านล่างเราก็เห็นภาพใกล้พื้นดินมากยิ่งขึ้น เราได้ทำงานกับฝ่ายที่รับผิดชอบอยู่หน้าร้าน ฝ่ายขนส่ง เราเรียนรู้ว่าภายในระยะเวลาเท่าไรต้องจัดขนส่ง ทำได้จริงแค่ไหน ยกตัวอย่างหน้างานจากการเช็ดพื้น ต้องรู้ว่าใช้น้ำยาอะไร เช็ดเวลาไหน ต้องเช็ดกี่ครั้ง

การเรียนรู้นี้ต้องลงลึกกับทุกจุดเพื่อจะได้รู้ลึกทุกเรื่อง ในเรือเราก็มีเพื่อนร่วมทีม พอเราขึ้นไปสูงเรารับบทบาทเป็นนักกลยุทธ์ เหมือนเรือไวกิ้ง เราตั้งกลยุทธ์แล้ว เราตั้งมาตรฐานแล้ว ตอนที่เราลงมือทำ ระหว่างนั้นเราก็มีเพื่อนร่วมทีมคอยช่วยเหลือกัน ผู้ใหญ่ก็ใจกว้าง ให้อิสระในการเรียนรู้

“เพื่อนร่วมทีมสำคัญมาก เรามีแต่คนเก่ง แต่คนเก่งของที่นี่มีความพิเศษ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเก่งวันนี้ พรุ่งนี้เราอาจไม่เก่ง เพื่อนในทีมเรามีหลายสาขาทั้งวิศวะ นักเศรษฐศาสตร์ นักโภชนาการ นักภาษาศาสตร์ ฯลฯ เราแลกเปลี่ยนความรู้และปรับตัวร่วมกัน โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้หลายด้าน” คุณแชมป์ให้มุมมอง

เกินความคาดหมาย คือสิ่งที่ได้รับจากหลักสูตร FLP

เดิมทีคุณแชมป์เล่าว่า เขาคาดว่าจะมาแค่เรียนรู้ แต่เกินความคาดหมายคือกลับได้เรียนรู้ชีวิตใหม่ ได้รู้จักผู้คนใหม่ๆ ช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้ 6 เดือนเหมือนผ่านไป 2 ปี ทุกครั้งที่เราเจออุปสรรค เจอวิกฤต เราคุยกันและช่วยเหลือกันตลอดเวลา

“ข้อคิดจากการเรียนหลักสูตรผู้นำของเครือฯ คือการได้เรียนรู้การเป็นเจ้าของจริงๆ ที่นี่เป็นที่เดียวที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ทดลองโดยไม่เจ็บตัว ท่านประธานอาวุโสเปิดโอกาสให้เราได้ลองเรียนรู้ พัฒนาทักษะตัวเองเอง เหมือนเราไม่ต้องไปเสียเงินสำหรับคอร์สเรียนธุรกิจ แต่เราได้เรียนธุรกิจจริงๆ ทั้งยังได้เงินเดือนด้วย สิ่งที่เราได้เรียนรู้เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้ ที่บ้านก็ทำธุรกิจเช่นกัน ก็สามารถแบ่งปันความรู้ให้กับที่บ้านได้ สามารถนำไปต่อยอดเป็นเจ้าของธุรกิจได้”

“ที่สำคัญความรู้จากที่เราเรียนมา ทำให้เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ต้องก้าวทันสถานการณ์ เราดีใจวันเดียว เราเสียใจวันเดียวเหมือนที่ท่านประธานอาวุโสเคยกล่าวไว้ เราตั้งกลยุทธ์ในแต่ละอาทิตย์ บางครั้งก็ต้องสามารถเปลี่ยนได้ในวันเดียวเช่นกัน” คุณแชมป์กล่าวสรุปถึงความประทับใจที่ได้รับจากโครงการพัฒนาผู้นำเพื่ออนาคต (FLP)

โครงการเถ้าแก่น้อยเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตที่ดีที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้การทำงานเพิ่มทักษะที่จะนำไปต่อยอด เน้นการเรียนรู้จากการทำงานจริงเป็นแก่นแกนสำคัญในการพัฒนาองค์กร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คัดสรรคนคุณภาพเพื่อมาเป็นผู้นำองค์กรภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เชื่อมั่นถึงพลังคนรุ่นใหม่…พลังแห่งอนาคตที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืน

Cr.Brand Inside