ซีพีน่าน ร่วมกับ เจียไต๋ และ สวพส. ลงนามบันทึกข้อตกลง ‘ธุรกิจฟักทองมินิบอลครบวงจร’ หวังช่วยเหลือเกษตรกร แก้ไขปัญหาเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การปลูกพืชมูลค่าสูง พร้อมยกระดับการส่งเสริมงานพัฒนาชุมชนทางภาคเหนือ

เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน มุ่งมั่นให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดพื้นที่ทำกินจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง โดยใช้พื้นที่น้อยแต่เกิดประสิทธิภาพมาก และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอ

โดยทาง สนง.ด้านความยั่งยืนฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ผนึกกำลังกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ในการส่งเสริมงานพัฒนาชุมชนด้านการเกษตร นำร่องธุรกิจฟักทองมินิบอลครบวงจร โดยมี คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการ สำนักงานด้านความยั่งยืน และพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณกิตติ์ธนา ทองเหล็ก ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริม งาน Integration Business (ธุรกิจครบวงจร) บริษัท เจียไต๋ จำกัด และคุณชวลิต สุทธเขตต์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน ทำความร่วมมือบันทึกข้อตกลงการดำเนินธุรกิจฟักทองมินิบอลแบบครบวงจรเพื่อชุมชน ในการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยให้ราคาที่เป็นธรรมตามคุณภาพของผลผลิต

คุณบัญชา โชติกำจร ผอ.สนง.ด้านความยั่งยืนฯ กล่าวว่า “สนง.ด้านความยั่งยืนฯ เรามุ่งเน้นงานด้านพัฒนาชุมชน ผนึกกำลังร่วมกับภาคีเครือข่าย ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและการตลาดจนตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้รูปแบบตลาดนำอาชีพตาม ผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปลายทาง เพื่อให้เกษตรกรได้รับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม”

คุณกิตติ์ธนา ทองเหล็ก ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริม งาน Integration Business (ธุรกิจครบวงจร) บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า การทำธุรกิจฟักทองมินิบอลครบวงจรที่เจียไต๋มีพืชตลาดหลักในการจัดส่งให้ช่องทางตลาดคือ ซีพี เฟรช จำนวน 4 ชนิดได้แก่ ฟักทองมินิบอล เมล่อน คะน้าฮ่องกง และแตงโม โดยทางเจียไต๋ได้มีการวิเคราะห์แล้วว่าพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศทางภาคเหนือมีความเหมาะสมแก่การปลูกฟักทองมินิบอล อีกทั้งพื้นผิวของฟักทองมินิบอลมีความแข็ง ซึ่งทนทานต่อการขนส่งในพื้นที่สูง โดยทางเจียไต๋เป็นผู้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรพร้อมเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายอีกด้วย

โดยการนำร่องการปลูกฟักทองนินิบอลในครั้งนี้ได้ใช้พื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงลุ่มน้ำน่าน จำนวน 16 ไร่ อาทิ พื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น จำนวน 2 ไร่, โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จำนวน 7 ไร่, โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงน้ำเคิมและน้ำแขว่ง จำนวน 2 ไร่, โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถาน จำนวน 2 ไร่, และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงน้ำแป่ง จำนวน 3 ไร่

จากการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีรายได้จากการขายผลผลิตฟักทองมินิบอลทั้งหมด 2,102 กก. เป็นจำนวนเงิน 61,193 บาท โดยแปลงที่เก็บเกี่ยวมีมาตรฐาน GAP และมีการจดบันทึกการใช้สารเคมีทุกครั้ง จึงสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตกรได้อย่างต่อเนื่อง