“ซีพีแรม” สู่ NET ZERO ทุ่มเฉียด 200 ล้าน ติดโซลาร์รูฟท็อป 7 โรงงาน

ซีพีแรม เดินหน้าสู่ Net Zero แต่งตั้งคณะทำงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ผ่านนโยบาย 3S พลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุ่มงบกว่า 188 ล้านบาท ปูพรมติดโซลาร์รูฟท็อป 7 รง. หวังลดพลังงาน 8,805.65 เมกะจูล ภายในปี 2573 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า ซีพีแรม ทำธุรกิจอาหารด้วยยุทธศาสตร์ ยึดมั่น นโยบายเกษตรและอาหาร 3S ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) 2.ความมั่นคง (Security) และ 3.ความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารโลก นำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (FoodSystems4SDGs) เปลี่ยนระบบอาหารให้มีความยั่งยืน เป็นธรรม และดีต่อสุขภาพตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค สร้างอาหารคุณภาพ และไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573

“ซีพีแรม” สู่ NET ZERO ทุ่มเฉียด 200 ล้าน ติดโซลาร์รูฟท็อป 7 โรงงานทั้งนี้ บริษัท มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืน รวมถึงการนำยุทธศาสตร์ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ที่มีเป้าหมายการพัฒนา แบ่งออกเป็น Heart : Living Right ธรรมาภิบาลและการต่อต้านการทุจริต, Health…Living well และ Home : Living Together โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขอบเขต 1 และ 2 ลดลง 5% ต่อปี เมี่อเทียบตันการผลิต ในปี 2573 จากปีฐาน พ.ศ.2563

รวมถึงการลดการใช้พลังงาน ที่มีเป้าลดการใช้พลังงานรวมสุทธิให้ได้ 8,805.65 เมกะจูล เมี่อเทียบตันการผลิตในปี 2573 จากปีฐาน พ.ศ.2563 และมีเป้าหมายลดปริมาณการใช้นํ้าลง 5% ต่อปีเมื่อ เทียบตันการผลิตในปี 2573 จากปีฐาน พ.ศ.2563 และปริมาณนํ้าที่นำกลับมาใช้ใหม่/ใช้ซํ้าต่อปริมาณนํ้าที่ผ่านระบบบ่อบำบัดนํ้าเสีย

สำหรับเป้าหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซีพีแรม ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยพิจารณาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและชุมชน รวมถึงการสรรหาวัสดุจากแหล่งผลิตอย่างรับผิดชอบ โดยให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่อยู่ในการควบคุมของบริษัท (Private Brand) ต้องสามารถนำกลับมาใช้ซํ้า (Reusable) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100%

นายวิเศษ กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนนั้น ซีพีแรมมีการดำเนินการภายใต้แนวทางการดำเนินงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ.2593 ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ เช่น CPRAM Green Life #ปลูกเพื่อโลกยั่งยืน, การลดปริมาณพลาสติกที่ปล่อยสู่สังคม และก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก, การจัดการของเสียเพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม

ที่สำคัญการลดการใช้พลังงานที่ปี 2566 นี้ ซีพีแรม มีเป้าหมายลดการใช้พลังงานรวมสุทธิลดลงให้ได้ 7,570 เมกะจูลต่อปี และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในการประกอบกิจการเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ได้ติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าลงทุนเกือบ 200 ล้านบาท ใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์กว่า 16,000 แผง หรือใช้พื้นที่รวมกว่า 34,315 ตารางเมตร ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 7,200 กิโลวัตต์ต่อปี สามารถช่วยลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในโรงงานได้ประมาณ 9 ล้านบาทต่อปี และสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละมากกว่า 4,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบได้กับการปลูกต้นไม้จำนวน 499,000 ต้น)

ขณะที่โครงการ CPRAM Green Life #ปลูกเพื่อโลกยั่งยืน ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนผืนแผ่นดินไทย เสริมสร้างความสมดุลระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ของโลก ทั้งป่าบก และป่าชายเลน ปัจจุบันได้ทำการปลูกต้นไม้ในโครงการไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 15,000 ต้น ซึ่งซีพีแรม ตั้งเป้าหมายในปี พ.ศ.2573 จะสามารถดำเนินการปลูกได้ 120,000 ต้น และยังมีโครงการอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และเครือเจริญโภคภัณฑ์

“ซีพีแรม มีทั้งการลงทุนและการเติบโตต่อเนื่องล่าสุดได้ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาทสร้างโรงงาน เบเกอรี่ ที่ชลบุรี และจะเปิดดำเนินการช่วงปปลายปี 2566 ซึ่งแต่ละปีตั้งเป้าการเติบโตเฉลี่ย 10-12% และในปปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ไม่ตํ่ากว่า 12% ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายความยั่งยืนขององค์กร”

ที่มา  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3885 วันที่ 7 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566