มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดประชุมสามัญประจำปี 2566 ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม ตอบแทนคุณแผ่นดิน

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดประชุมสามัญประจำปี 2566 โดย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย คุณสุภกิต เจียรวนนท์  คุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ  และกรรมการมูลนิธิฯ อาทิ ดร.อาชว์ เตาลานนท์ คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ  คุณธานินทร์ บูรณมานิต คุณประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ ดร.สารสิน วีระผล คุณวรวิทย์ เจนธนากุล คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ คุณจอมกิตติ ศิริกุล และกรรมการมูลนิธิฯ รวม 24 ท่าน

ในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมสามัญประจำปีบริหาร 2566 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีบริหาร 2565 ได้จัดการประชุมแบบไฮบริด โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ส่งมอบคุณค่าด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านความยั่งยืนของประเทศไทย พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในสังคม และตอบแทนคุณแผ่นดิน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ บนการขับเคลื่อนงาน 6 ยุทธศาสตร์หลัก

การน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมไทย โดยมีเป้าหมาย สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี เเละสิ่งแวดล้อมดี ที่สอดคล้องกับเเผนพัฒนาการดำเนินงาน 4 ด้าน อาทิ ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการพัฒนาชุมชนและเกษตรกร เเละด้านการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

สร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงโภชนาการที่ดี เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล  โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนสนับสนุนให้โรงเรียนผลิตไข่ไก่บรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีน สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต ทั้งร่างกายและสมองของเยาวชนในชนบทได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ดีแก่เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีโปรตีนอย่างเพียงพอและต่อเนื่องกว่า 180,000 คน สามารถผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ สด สะอาด ส่งมอบแก่นักเรียนและชุมชนกว่า 20.5 ล้านฟอง พร้อมบูรณาการกิจกรรมสู่การเรียนการสอนขยายผลไปแล้ว 935 โรงเรียน และยังพัฒนาสู่แหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครูและชุมชน

สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำ ให้เด็กและเยาวชน ทุกคนเข้าถึงระบบการศึกษาที่เหมาะสม  โดยสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไปแล้ว 249 คน ให้มีโอกาสในการศึกษาต่อและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรกร จ.เพชรบุรี เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิต ทักษะอาชีพเกษตร สามารถนำความรู้ไปประกอบสัมมาอาชีพในอนาคตต่อไปได้ ตลอดจนเป็นศูนย์สาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลสู่เกษตรกรและสร้างโอกาสทางอาชีพแก่ชุมชน

ส่งเสริมและการสร้างความตระหนักรู้ ด้านความกตัญญูรู้คุณ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน มูลนิธิฯให้ความสำคัญกับครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม (เด็กกำพร้า ) ในจังหวัดบุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคายให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักและอบอุ่น สร้างโอกาสให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณค่า จากครอบครัวอุปการะฯ 358 คน เป็นคนดี มีหัวใจกตัญญูกลับมาตอบเเทนผู้มีพระคุณ  นอกจากนั้นยังให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัยในการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับสถานการณ์สังคมผู้สูงวัย เพื่อเข้าไปพัฒนาและยกระดับคุณภาพให้ดีขึ้นกว่า 4,200 คน ขณะเดียวกันก็ยังดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล เพื่อมอบโอกาสในการศึกษาแก่เยาวชนที่ขาดทุนทรัพย์ไปแล้ว 249 คน ให้ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริบาลดูแลผู้สูงอายุ โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตนักบริบาล ให้เป็นบุคลากรในระบบสาธารณสุข เพื่อรองรับกับสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศไทย

ขับเคลื่อนงานด้านการสร้างคุณค่าแก่สังคมและผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาเผยแพร่ เพื่อยกระดับและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมสู่วิสาหกิจชุมชน  9,600 คน ได้รับการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตร

ปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะป่าไม้มีความสำคัญต่อโลก  และประเทศไทยเป็นอย่างมาก การดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ สัตว์ป่า มีความจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมดูแล ผ่านโครงการอมก๋อยโมเดล จ.เชียงใหม่ โดยได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนพื้นที่สูงให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาอาชีพให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล  โดยปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 69,840 ต้น เพื่อปกป้องพื้นที่ป่า อีกทั้งยังสนับสนุนการอนุรักษ์กวางผา

ผ่านการดำเนินโครงการต่อเนื่อง 10 โครงการ ได้แก่ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน, โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ, โครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร จ.เพชรบุรี,โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม, โครงการกตัญญู (ผู้สูงวัย), โครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล,โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี, โครงการตามพระราชประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ 7 แห่ง, โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.กาญจนบุรี, โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ จ.บุรีรัมย์,โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ จ.สงขลา ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และโครงการอมก๋อยโมเดล จ.เชียงใหม่

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของประเทศไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในสังคม และตอบแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ผนวกนำเอาเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศไทย (SDGs) รวมกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป