นักวิทยาศาสตร์กว่าหมื่นคนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาวะอากาศ โลกจะทุกข์ยากไม่รู้จบหากไม่เร่งแก้ไข

นักวิทยาศาสตร์เกือบ 14,000 คน ร่วมลงนามในรายงานภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศฉบับใหม่ เตือนว่า “ความทุกข์ยากไม่รู้จบ” กำลังรอมนุษยชาติอยู่ หากไม่เริ่มจัดการกับภาวะโลกร้อนแบบตรงไปตรงมาให้มีผลในทันที

รายงานใหม่นี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมในวารสาร BioScience นำโดยนักวิจัยจาก Oregon State University เป็นเอกสารฉบับปรับปรุงจากเมื่อปี 2562 ที่ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ” ทั่วโลก

รายงานนี้ประเมินสัญญาณชีพของโลกโดยพิจารณาจากตัวแปร 31 ตัว รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิพื้นผิว การสูญเสียมวลน้ำแข็งในธารน้ำแข็ง การสูญเสียป่าฝนแอมะซอน บวกกับปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ

รายงานฉบับใหม่นี้พบว่า สัญญาณชีพของโลกเสื่อมโทรมลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดย 18 หมวดหมู่จาก 31 หมวดของรายงานแสดงจุดสูงสุดหรือต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่

เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ความหนาของน้ำแข็งอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 71 ปี ในขณะที่ท้องฟ้ามีมลพิษมากกว่าที่เคย (ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ)

แต่ในความเสื่อมโทรมของโลกปรากฎว่า เศรษฐกิจของโลกดีขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมา (โดยวัดจาก GDP ทั่วโลก) นั่นแสดงว่ามนุษยชาติกินอยู่อย่างสุขสบายขึ้น แต่โลกกลับพังพินาศมากขึ้น และเป็นความร่ำรวยที่แฝงด้วยความเหลื่อมล้ำ

รายงานยังพบอีกว่า นับเป็นครั้งแรกที่ปศุสัตว์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (เช่น วัว, แกะ) ของโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า 4,000 ล้านตัว มากกว่าประชากรมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่ารวมกัน

การบริโภคและการผลิตเนื้อสัตว์จะไม่ลดลงจนกว่าจะมีการหันมาบริโภคอาหารจากพืชหรือการใช้เนื้อสัตว์ทดแทนในวงกว้าง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและคาดว่าจะมีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์ทั่วโลกภายในปี 2569

อัตราการสูญเสียป่าประจำปีของป่าแอมะซอนของบราซิลเพิ่มขึ้นในปี 2562 และ 2563 ซึ่งสูงถึงระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี เมื่อป่าถูกทำลายไปถึง 1.11 ล้านเฮกตาร์

การทำลายป่ารุนแรงขึ้นเพราะกฎหมายป้องกันป่าอ่อนแอลง ทำให้เกิดการฮุบที่ดินผิดกฎหมายมาเลี้ยงโคและการทำฟาร์มถั่วเหลือง ความเสื่อมโทรมของป่ายังเกิดจากมาจากไฟป่า ความแห้งแล้ง การตัดไม้ ทำให้แอเมะซอนเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่จะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 อาจทำให้การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงตั้งแต่ปี 2563 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวก็ลดลง อย่างไรก็ตาม การลดลงเหล่านี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นชั่วคราวเพราะในปี 2564 มันเพิ่มอีกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง

ในทางกลับกัน ปริมาณการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพิ่มขึ้น 57% ระหว่างปี 2561 ถึง 2564 แต่ก็ยังต่ำกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลประมาณ 19 เท่า

นอกจากนี้ แม้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลงชั่วคราว แต่ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ล้วนสร้างสถิติใหม่ โดยพบอัตราความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศสูงสุดในปี 2563 และ 2564

ในเดือนเมษายน 2564 ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 416 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งเป็นความเข้มข้นเฉลี่ยรายเดือนสูงสุดทั่วโลกเท่าที่เคยมีการบันทึกมา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกามีระดับมวลน้ำแข็งต่ำเป็นประวัติการณ์ใหม่ทุกปี ในปี 2563 ปริมาณน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกในฤดูร้อนอยู่ที่ระดับที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองเท่าที่เคยเก็บสถิติมา ความหนาของธารน้ำแข็งก็สร้างระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ด้วย

ส่วนธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมาก ธารน้ำแข็งกำลังสูญเสียหิมะและน้ำแข็งมากกว่า 31% ต่อปี เมื่อเทียบกับเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ปริมาณความร้อนในมหาสมุทรและระดับน้ำทะเลสร้างสถิติใหม่ ค่าความเป็นกรด – ด่างของมหาสมุทรถึงค่าเฉลี่ยต่ำสุดเป็นอันดับสองรองจากปี 2555

เรื่องนี้น่าเป็นห่วงเนื่องจากความยืดหยุ่นของปะการังต่อภาวะกรดในมหาสมุทรมีแนวโน้มลดลงเพราะความเครียดจากความร้อน และผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนต้องพึ่งพาแนวปะการังสำหรับเป็นแหล่งอาหาร (เพราะเป็นแหล่งอาศัยของปลา) การท่องเที่ยว หรือการป้องกันคลื่นพายุโซนร้อน

แต่ทั้งหมดนี้สวนทางกับความมั่งคั่งของโลก แม้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลกลดลง 3.6% ในปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 แต่ขณะนี้คาดว่าจะเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์

รายงานชี้ว่า บทเรียนสำคัญจากโควิด-19 คือ การขนส่งและการบริโภคที่ลดลงอย่างมหาศาลก็ยังไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบการเปลี่ยนแปลง และต้องอยู่เหนือการเมือง

เมื่อพิจารณาจากผลกระทบ คาดว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 1.25 องศาเซลเซียส และอาจถึงจุดเปลี่ยนที่ย้อนกลับคืนมาไม่ได้ ดังนั้นการดำเนินการด้านสภาพอากาศขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน

งบประมาณคาร์บอนที่เหลืออยู่สำหรับป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้น 1.5 องศา ที่ถูกประเมินเมื่อเร็ว ๆ นี้มีโอกาส 17% ที่จะติดลบ ซึ่งบ่งชี้ว่าเราอาจสูญเสียโอกาสที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับนี้

รายงานเสนอแนะว่า เนื่องจากมีเวลาจำกัด การจัดลำดับความสำคัญจึงต้องเปลี่ยนไปเน้นที่การลดก๊าซเรือนกระจกอายุสั้นที่เป็นอันตรายในทันทีและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเทน

และรายงานบอกให้เราต้องหยุดมองปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบแยกส่วน ภาวะโลกร้อนถึงแม้จะหายนะ แต่ก็ไม่ใช่เพียงอาการเดียวของระบบโลกที่กำลังดิ้นรนอยู่ แต่เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ แง่มุมของวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เร่งตัวขึ้น

นักวิทยาศาสตร์เสนอแนวทาง 6 ข้อ ดังนี้

1) พลังงาน – ต้องกำจัดเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน

2) จัดการมลพิษทางอากาศที่มีอายุสั้น – ต้องลดคาร์บอนสีดำ (เขม่า) มีเทนและไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน

3) ธรรมชาติ – ต้องฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศของโลกอย่างถาวร เพื่อกักเก็บและสะสมคาร์บอน และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

4) อาหาร – การเปลี่ยนไปใช้อาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบเป็นส่วนใหญ่ ลดขยะอาหาร และปรับปรุงวิธีการปลูกพืช

5) เศรษฐกิจ – เปลี่ยนจากการเติบโตโดยวัด GDP อย่างไม่มีขีดจำกัดและการบริโภคที่มากเกินไปของคนร่ำรวย ไปสู่เศรษฐกิจเชิงนิเวศและเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งราคาสะท้อนต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของสินค้าและบริการ

6) ประชากรมนุษย์ – สร้างเสถียรภาพและค่อย ๆ ลดจำนวนประชากร โดยจัดให้มีการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ และสนับสนุนการศึกษาและสิทธิของเด็กหญิงและหญิงสาวทุกคน ซึ่งช่วยให้ประชากรลดลงได้

จากความเร่งด่วนที่รุนแรงขึ้นและความพยายามยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระดับสากล ความคืบหน้าในหกขั้นตอนข้างต้นจึงมีความจำเป็น และพวกเขาเรียกร้องให้มีแนวทางนโยบายระยะสั้น 3 ทาง ได้แก่

1) การดำเนินการตามราคาคาร์บอนทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ (ด้านพลังงานและเศรษฐกิจ)

2) การเลิกและการห้ามใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถาวรใช้ทั่วโลกในท้ายที่สุด (ด้านพลังงาน)

3)การพัฒนาเขตอนุรักษ์ภูมิอากาศเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องและฟื้นฟูแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกอย่างเคร่งครัด (ด้านธรรมชาติ)

ที่มา : เพจ iGreem

ข้อมูลจาก

  • William J Ripple, Christopher Wolf, Thomas M Newsome, Jillian W Gregg, Timothy M Lenton, Ignacio Palomo, Jasper A J Eikelboom, Beverly E Law, Saleemul Huq, Philip B Duffy, Johan Rockström, World Scientists’ Warning of a Climate Emergency 2021, BioScience, 2021;, biab079, https://doi.org/10.1093/biosci/biab079
  • Brandon Specktor. (July 28, 2021). “Ignoring climate change will yield ‘untold suffering,’ panel of 14,000 scientists warns”. Live Science

ภาพ NASA/NOAA/GSFC/Suomi NPP/VIIRS/Norman Kuring